โปรดทราบ..ปฏิ…รูปท้องถิ่น ยุบ”อบต.ควบรวมเทศบาลฯ”

2.jpgตามที่คณะกรรมาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น ได้มีแนวทางการปฏิรูปด้านโครงสร้าง ขนาดและรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โดยมีเป้าหมายที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่ถึง 20 ล้านบาทหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีประชากรขั้นต่ำไม่ถึง7,000 คน

ควบรวมเข้าร่วมกันเป็นอปท.ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนอปท.ระดับพื้นที่มีจำนวนลดลง โดยคณะกรรมาธิการฯตั้งสมมติฐานว่า หากมีการควบรวมอปท.ขนาดเล็กแล้วจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและด้านประสิทธิภาพในการกำกับดูแลระหว่างรัฐกับอปท.

จากประเด็นดังกล่าว สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.).แห่งประเทศไทยเห็นว่าการปฏิรูปด้านขนาดของ อปท.นั้นควรที่จะมีการศึกษาข้อมูลด้านงบประมาณและบุคลากรเพื่อความเหมาะสมกับขนาดและภารกิจของอปท.ซึ่งทางสมาคมฯได้ทำการศึกษาข้อมูลพบว่า

มีองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 790 แห่งและไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 4,545 แห่ง มีเทศบาลตำบลที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 585 แห่งและไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 1,628 แห่ง

ดังนั้นจะมีอปท.ที่ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 6,173 แห่งด้วยกัน เมื่อเกิดการคบวรวมอปท.ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ หากควบรวมไปในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่งจะทำให้อปท.มีรายได้เฉลี่ยแห่งละ 25 ล้านบาท

แต่มีจำนวนประชากรในการดูแลและบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานเฉลี่ยรายหัวเท่าเดิม อีกทั้งยังมีรายจ่ายประจำเทียบเท่าหรือมากกว่าอปท.ในรูปแบบเดิม เนื่องจากโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่ขึ้น

7.jpg
สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย นำคณะลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นจากอบต.ทั่วทุกภูมิภาค

ในแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นนี้ สมาคมอบต.ฯมีข้อเสนอว่า ประเด็นการควบรวม อปท.ควรกำหนดเป็น 3 ระยะภายใน 15 ปี ระยะที่ 1 ระยะทดลอง (1-5 ปี ) เสนอให้มีการควบรวม อปท.โดยใช้หลักเกณฑ์”หนึ่งตำบล หนึ่งท้องถิ่น”ซึ่งจำเป็นต้องมีการประกันรายได้ให้อปท.ที่เกิดจากการควบรวมขั้นต่ำ 30 ล้านบาท โดยกำหนดให้มีงบลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20ของงบประมาณรายได้ อปท.นั้นๆและควรมีการกำหนดโครงสร้างบุคลากรที่เหมาะสมกับภารกิจ ไม่เกิดการทับซ้อนในตำแหน่งงานเพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่จำเป็น เมื่อเกิดการควบรวมในระยะทดลองให้มีการติดตามประเมินผลประสิทธิภาพในการบริหาร อปท.เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนระยะที่2 ต่อไป

5.jpgสำหรับระยะที่ 2 เป็นระยะเริ่มต้นควบรวม (6-10 ปี ) ดำเนินการควบรวม อปท.ที่มีประชากรไม่ถึง 3,000 คน ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีประชากรประมาณ 5,000-6,000 คน และเมื่อควบรวมแล้ว ต้องมีการประกันรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในสัดส่วนงบลงทุนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25ของงบประมาณรายได้ อปท.จัดระบบโครงสร้างบุคลากรที่เหมาะสมกับการเติบโตของอปท. ให้มีการประเมินผลการควบรวมในระยะที่ 2 หากเป็นทิศทางที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประสิทธิภาพในการบริหารท้องถิ่น ภายใต้แนวทางที่เป็นอิสระแบบชุมชนบริหารชุมชน เพื่อชุมชน และการกระจายอำนาจท้องถิ่น ให้ดำเนินการในระะต่อไป

ระยะที่ 3 เป็นระยะปรับระบบโครงสร้างอปท.(ปีที่ 10-15ปี ) ดำเนินการควบรวมอปท.ที่มีประชากรไม่ถึง7,000 คนและประกันรายได้อปท.ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

3.jpg
ระดับรายได้ของ อปท.

ทั้งนี้ นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่าส่วนการปฏิรูปจำนวนและที่มาของสมาชิกท้องถิ่นโดยมีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งในระดับพื้นที่/หมู่บ้านอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 คน

คาดว่าจะมีสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตเทศบาลตำบลทั้งประเทศจำนวนประมาณ 74,965 แห่ง (ข้อมูลจำนวนหมู่บ้าน จากกรมการปกครอง เมื่อ 5 มีนาคม 25558) และเมื่อรวมกับสมาชิกสภาเทศบาลเมืองและสมาชิกสภาเทศบาลนคร จำนวนประมาณ 3,924 คนแล้วคาดว่าจะมีสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศ คงเหลือเพียง 78,889 คนจากเดิมที่มีทั้งหมด 149,000 คน จะลดลงจากเดิม 7 หมื่นคน ทำให้ประหยัดงบประมาณรายจ่าย และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้กับอปท.ถึงปีละกว่า 5 พันล้านบาท

4.jpg
ข้อมูลแหล่งรายได้ของ อปท.

ทางด้าน กรรมการชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น( อปท.)เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่าจากการที่จังหวัดเชียงใหม่ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 211 แห่ง ประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาล จำนวน 97 แห่ง ( โดยแยกเป็นเทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 4 แห่ง และเทศบาลตำบล 92 แห่ง ) องค์การบริหารส่วนตำบล 113 แห่ง นั้น

หากมีการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่น กรณีที่สมาคม อบต.ฯนำเสนอก็น่าสนใจ เพราะอบต.หลายๆแห่ง ยังมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงระบบโครงสร้าง ให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาท้องถิ่น สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า บางอบต.มีจำนวนสมาชิกมากกว่าเทศบาลตำบลก็มี เช่น อบต.เชียงดาว มีสมาชิกสภาฯ32 คน อบต.กองแขก อำเภอแม่แจ่มมี 24 คน

ในขณะที่เทศบาลตำบลส่วนใหญ่มีสมาชิก 12 คน ใน 2 เขตเลือกตั้ง แค่เทศบาลนครฯก็มี 4 เขต 4 แขวง มีสท.แค่ 24 คน อบต.ดอยหล่อ มีสมาชิก 52 คน ถ้าเทียบกับ อบจ.เชียงใหม่ที่ดูแล 25 อำเภอ มีสมาชิกเพียง 42 คน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลักการ ทุกพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต้องมีตัวแทนไปทำหน้าที่ในสภาฯ ซึ่งการควบรวม อปท. ในระดับ อบต. กับเทศบาลตำบล ตามกรอบแนวคิดที่หลายๆฝ่ายนำเสนอนั้น ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจาก ระดับ อบต.มีความแตกต่างกัน และทุกอปท.มีความใกล้ชิดกับประชาชน

ในการปฏิรูปท้องถิ่นนั้น ไม่ควรยึดโยงกับงบประมาณที่จะประหยัดไปในด้านบุคลากร แต่ต้องคิดถึงการทำงานในพื้นที่ เมื่อมีการควบรวมระหว่าง อปท.กลายเป็นโมเดล หนึ่งตำบลหนึ่งท้องถิ่นแล้ว ตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นได้จริงหรือไม่มากกว่า

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลการควบรวม อปท. ทั้งในกรณีผ่านเกณฑ์ประชากร 7,000 คนและรายได้ 20 ล้านบาท หรือ ประชากรไม่ถึง 7,000 คนและรายได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มี อปท. 211 แห่งนับรวม อบจ. พบว่าจะมี อบต. 89 แห่ง เทศบาลตำบล 116 รวม 205 แห่ง

ถ้าใช้เกณฑ์ประชากร 7,000 คนและรายได้ 20 ล้านบาท จะมี อบต.16 แห่ง เทศบาลตำบล 42 แห่งรวม 58 แห่ง
ถ้าใช้เกณฑ์ประชากรไม่ถึง 7,000 คนและรายได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท จะมี อบต. 73 แห่ง เทศบาลตำบล 74 แห่ง รวม 147 แห่ง

กรณีควบรวม อปท.แบบ 1 ต่อ 1 คาดว่าจะมีอปท.คงเหลือ เป็น อบต. 53 แห่ง เทศบาลตำบล 79แห่ง รวม 132 แห่ง

ซึ่งคงมีคำถามติดตามมาว่า..แล้ว …อบต. และเทศบาลตำบลเหล่านั้น ที่จะต้องยุบรวมตามแนวทาง”ปฏิรูป” จะยินยอม พร้อมใจหรือไม่ และท้องถิ่นทั้งแบบควบรวม หรือแบบก่อนหน้าที่จะควบรวม

ในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้….มีหลักประกันใดยืนยันว่า มีประสิทธิภาพดีจริง เป็นไปตามแผน?
หรือเป็นเพียง จัดแยก หมวดหมู่ กลุ่ม ขั้วการเมืองให้เด่นชัด ในพิกัด…เลือกตั้ง….ครั้งต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น