แม่งัดหมดหน้าตัก น้ำสำรอง เหลือแค่ 10 % ต้องยื้อให้ได้ถึง 1 กรกฎาคมนี้ 4 อำเภอสายใต้รับชะตากรรม

3ชลประทานเคาะตัวเลขน้ำก้อนสุดท้ายแล้ว น้ำจากแม่งัดเหลือใช้อีกแค่ 17 ล้าน ลบ.ม. ต้องพยุงให้รอดไปถึง 1 ก.ค. แจงข้อมูลชัดปริมาณน้ำรวมของเชียงใหม่เคยมีมากถึง 4,400 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ปีนี้มีน้ำใช้ทั้งจังหวัดแค่ 293 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น พร้อมเผยข้อพิพาท 4 อำเภอโซนใต้ของเชียงใหม่กับลำพูนบรรลุข้อตกลงรับที่จะใช้น้ำที่มีน้อยร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนคลองแม่แตงได้อนิสงส์จากฝนเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์วันนี้น้ำหายไปกว่าครึ่งจากวันที่ฝนตก

วันที่ 10 พ.ค.59 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่จัดการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ โดยมีนายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระที่หน่วยงานราชการเข้าร่วมการแถลงข่าว 5 วาระ ซึ่งหนึ่งในวาระที่เข้าร่วมแถลงคือ สถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งแถลงโดย นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่

นายเจนศักดิ์ฯ แจงว่า แม่น้ำปิงที่ต้นน้ำ ณ อ.เชียงดาว วันนี้ไม่สามารถวัดปริมาณการไหลของน้ำได้ เนื่องจากมีน้อยมาก หากแต่วัดที่จุดวัดสะพานป่างิ้วถนนวงแหวนรอบ 3 วันได้ 1 แสน ลบ.ม. เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในรอบเวรการปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ณ วันนี้น้ำในจังหวัดเชียงใหม่โดยภาพรวมมีเพียงแค่ 293 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เท่านั้น ที่ผ่านมาปริมาณน้ำในเชียงใหม่ที่มีสูงสุดมีอยู่ราว 4,400 ล้าน ลบ.ม. นั่นหมายความว่าน้ำที่มีอยู่ในแม่น้ำปิงช่วงจังหวัดเชียงใหม่มีอยู่เพียงแค่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เหตุผลนี้เองส่งผลให้เชียงใหม่ประสบภาวะแล้งรุนแรง ภาพที่เห็นน้ำในแม่น้ำปิงในเขตเมือง มีปริมาณมากนี้เป็นน้ำที่บริหารจัดการจากประตูระบายน้ำท่าวังตาลทำให้น้ำยกระดับขึ้น

“น้ำในแม่น้ำปิงวันนี้เป็นน้ำที่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แต่ด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดฯ มีปริมาณน้อยมากการบริหารจัดการจึงส่งน้ำไปได้ไม่ถึงอำเภอฮอด เมื่อดูภาพรวมของปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่จำนวน 115 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลือรวมเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 12 แห่งมีปริมาณน้ำคงเหลือรวม 16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่ 2 แห่งที่เขื่อนแม่งัดฯ และเขื่อนแม่กวงฯ มีปริมาณน้ำโดยรวมเหลืออยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น” นายเจนศักดิ์ฯ แจง

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ที่เขื่อนแม่งัดฯ มีปริมาณน้ำกักเก็บเหลือเพียง 27 ล้าน ลบ.ม. เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของความจุเท่านั้นเอง อีกแห่งหนึ่งซึ่งแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำคัญ สำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่อเลี้ยงคนเชียงใหม่คือ คลองชลประทานแม่แตง ณ วันนี้มีน้ำไหลผ่านราว 144,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยด้วยอานิสงส์จากฝนตกเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ผ่านมา โดยในวันที่ฝนตกมีปริมาณน้ำผ่านคลองแม่แตง 350,000 ลบ.ม.ต่อวัน แต่วันนี้เหลือเพียง 1.4 แสน ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น

“จากกรณีพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำปิงในช่วงท้ายน้ำซึ่งมีคู่พิพาทอยู่ 4 อำเภอ จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการบินสำรวจตลอดแม่น้ำปิง ซึ่งทำให้ต้องกลับมาพิจารณาน้ำที่เหลือในเขื่อนแม่งัดฯ ซึ่งมีน้ำเหลือเพียง 27 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในปริมาณนี้มีน้ำใช้การได้เพียงแค่ 17 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งปริมาณน้ำที่เหลืออยู่เพียงแค่นี้เชียงใหม่ต้องใช้ไปจนถึงวันที่ 1 ก.ค.59 คือวันที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะมา ปัญหาพิพาทในพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ที่พิพาทเรื่องนั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้ลงพื้นที่และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกซึ่งบรรลุข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน” นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าว

สำหรับข้อตกลงหลังการประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อ.ป่าซาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า 1. ในกรณีฉุกเฉิน ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาจอมทองใช้แหล่งน้ำสำรองก่อน 2.การขุดร่องน้ำในลำน้ำปิงต้องได้รับประโยชน์ทั้งฝั่ง ทั้งฝั่งเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 จัดส่งรถแบ๊คโฮเข้าพื้นที่ และจะให้สแตนบายในพื้นที่เลย โดยขอให้นายอำเภอในพื้นที่ประสานการใช้งานกับเจ้าหน้าที่ของสำนักชลประทานที่ 1 และให้ขุดชักร่องน้ำที่กำลังไหลมาถึงจอมทองด้วย 3. การประสานงานในอนาคตระหว่างพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ จะมีการประสานกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะ มี นายธนิต จ่าภา เจ้าหน้าที่ของสำนักชลประทานที่ 1 เป็นตัวกลางในการประสานงานในพื้นที่ 4. มีการทำความเข้าใจกันระหว่างพื้นที่เป็นอันเข้าใจกันทุกฝ่าย และยอมรับว่าน้ำอุปโภคบริโภค ต้องมาก่อนอันดับแรก อีกทั้งพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำเหลืออยู่บ้างก็ให้พิจารณาแบ่งปันให้พื้นที่ขาดน้ำด้วย ทั้งนี้จะมีอำเภอเป็นแกนกลางในพื้นที่ในการจัดสรรแบ่งปันตามข้อตกลง และ 5. การพิจารณาขอน้ำเพิ่มจากเขื่อนแม่งัด จะได้รับการพิจารณาตามแต่กรณีและเหตุเดือดร้อน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนแม่งัดและน้ำกินน้ำใช้ของเมืองเชียงใหม่ต้องไม่ได้รับผลกระทบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น