ฝ่าเกรียวคลื่นเหนือเขื่อนแม่กวง สู่หมู่บ้าน “แผ่นดินหวิด” …สถานที่ เวลาและอารมณ์ !!

DSC_7716 ธีรภาพ โลหิตกุล เขียนคำนำในหนังสือ “มหัศจรรย์สุวรรณภูมิ” ไว้อย่างลึกซึ้งกินใจเหลือหลายว่า “คนยุคนี้..คิดคำนวนมากกว่าคิดคำนึง..เพราะทุกวันนี้ ทุกครั้งที่เรากดปุ่มอะไรก็ตาม มันหมายถึงการคาดหวังและคิดคำนวนว่าจะต้อง “ได้” อะไรตามมาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ได้เอาชนะคู่แข่งในเกมคอมพิวเตอร์ ได้เงินที่ไหลออกมาจากตู้สี่เหลี่ยม ได้ใช้รีโมทเป็นเครื่องมือหนีจากช่องทีวี ที่จำเจ ได้ติดต่อกับคนทั่วโลกด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต “ได้” อะไรสารพัดเพียงแค่กดปุ่ม…ไม่เพียงการคิดคำนวนในชีวิตประจำวัน ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้กระทั่งเมื่อไปเที่ยว ก็มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ถ่ายรูปคู่กับสถานที่ท่องเที่ยวดิบดี ซื้อของที่ระลึกกลับมาพะรุงพะรัง แต่วันรุ่งขึ้นก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง เพราะเวลาส่วนใหญ่เสียไปกับการหามุมถ่ายภาพและการชอปปิ้ง จนไม่มีเวลาแม้จะยืนชื่นชมความงามของสถานที่สัก 5 – 10 นาที…การได้หยุดยืนนิ่ง ๆ แล้วคิดคำนึงเสียบ้าง บางทีก็ทำให้มองเห็น “บางสิ่ง” ที่ซ่อนเร้นอยู่ในศิลาปราสาท หาดทรายชายทะเล ทุ่งดอกไม้ในหุบเขา ลายปูนปั้นที่หน้าบันพระอุโบสถ ซึ่งมิอาจมองเห็นได้ด้วยตา ทว่าสัมผัสได้ด้วยหัวใจ”

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าช่วงระยะที่ผ่านมากระแสการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในบ้านเรา การท่องเที่ยวในความหมายของคนไทยจำนวนหนึ่ง คือเมื่อมีเงินมากพอก็หนีร้อนไปชอปปิ้งเมืองนอก ไปเปลี่ยนบรรยากาศ ไปพักผ่อนจากการทำงานหนักมาทั้งปี ด้วยเหตุนี้ที่เที่ยวของคนไทย (มีอันจะกิน) จึงต้องเป็นที่สบายสุด ๆ มีที่ชอปปิ้งได้สุด ๆ ถ้าที่ไหนไปแล้วรู้สึกกินอยู่ลำบากหรือรู้สึกว่าเขาต่ำต้อยกว่าเราอย่าง ลาว พม่า เขมร ก็นึกภาพไม่ออกว่าจะไปเที่ยวดูอะไร มีอะไรให้ชอป ? ในขณะที่การท่องเที่ยวในความหมายของชาวตะวันตกจำนวนมากหมายถึงการเปิดวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากที่พวกเขา “เป็น” “อยู่” “คือ” ในยามปกติ

DSC_7712วันหนึ่งผมได้รับการชวนจากเพื่อนร่วมอาชีพว่าจะเข้าไปที่หมู่บ้าน “แผ่นดินหวิด” ซึ่งแค่ได้ยินชื่อก็สร้างเครื่องหมาย “เควดชั่นมาร์ก” ขึ้นในหัวสมองผมแล้ว หลังจากที่เพื่อนคนนั้นอธิบายเสียยืดยาวแต่ผมจับใจความได้แค่สองสามประโยคว่า “หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงที่ผืนดินตัดขาดเป็นหน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกกันว่า “แผ่นดินหวิด” ที่สำคัญการเดินทางเข้าหมู่บ้านแห่งนี้ต้องไปทางเรือจากเขื่อนแม่กวง”

ผมถือคติที่ว่าอะไรก็แล้วแต่เมื่อได้ยินชื่อจะต้องเข้าไปสัมผัส ไม่รอช้าผมตกปากรับคำกับเพื่อนว่าจะเข้าไปด้วย เมื่อได้เวลานัดเรือเร็วของศูนย์ศึกษาธรรมชาติห้วยฮ่องไคร้ก็มารอพร้อมกับเจ้าหน้าที่จากอำเภอดอยสะเก็ตและเจ้าหน้าที่จากอบต.ลวงเหนือ นำโดยปลัดอาวุโส กำนันตำบลลวงเหนือ และประธานบริหารอบต.ลวงเหนือ

เรือเคลื่อนตัวออกจากฝั่งมุ่งหน้าฝ่าเกรียวคลื่นและแดดอ่อนยามเช้าเหนือเขื่อนแม่กวง สู่แผ่นดินตรงข้ามที่บ้านป่าสักงามหรือชาวบ้านเรียกว่าหมู่บ้าน “แผ่นดินหวิด” แน่นอนว่าถ้านักท่องเที่ยวทั่วไปที่มาเที่ยวหมู่บ้านแห่งนี้จะต้องมุ่งหน้าไปเที่ยวน้ำตกและถ้ำซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในบริเวณนี้จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของชาวบ้านไปเสียแล้ว หากใครเดินทางมาเยือนก็ต้องไปเที่ยวจนกลายเป็น “โลโก้” ของหมู่บ้านไปแล้ว ทว่าในฐานะของคนเดินทางและนักเขียนผมกลับเพ่งเล็งไปที่พระพุทธรูปสิงห์สามอายุราว 700 ปีที่เป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่หมู่บ้านมาแสนนาน แต่เยี่ยงคนเดินทางแล้วจะมีสักกี่คนที่รู้ว่า เบื้องหลังการพอพระพุทธรูปองค์นี้มีที่มาอย่างไร ทำไมพระองค์นี้จึงมาอยู่ที่นี่ได้ ? นี่ต่างหากที่เป็นเสน่ห์มนต์ขลังของหมู่บ้าน

DSC_7713ทันทีที่ผมได้ยินเรื่องเล่าจากชาวบ้านถึงการพบพระพุทธรูปสิงห์สาม ทำให้ผมขอร้องชาวบ้านให้ช่วยพาไปพบกับผู้ที่เจอพระพุทธรูปเป็นคนแรก ชายวัยกลางคนซึ่งผมคาดว่าอายุคงประมาณ 50 อัพเดินเข้ามาหาพร้อมกับรอยยิ้มที่เป็นมิตร ชาวบ้านที่อยู่ด้วยลุกขึ้นแนะนำ “นี่คือลุงยืน ปันใจ ผู้พบพระพุทธรูปเป็นคนแรก”

เมื่อกล่าวคำทักทายกันเรียบร้อยลุงยืนก็เริ่มเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว

“หลังจากที่ลุงนำช้างไปอาบน้ำในลำห้วยโบสถ์ ก็สังเกตว่าใกล้ ๆ กับที่เราอยู่มีก้อนหินลักษณะวงรีคล้ายถังน้ำ เมื่อลองเอามือล้วงดูพบว่าข้างในกลวงเป็นทรายเต็มไปหมด เมื่อกลับมาบ้านก็เล่าเรื่องนี้ให้กับนายจันทร์ซึ่งเป็นพี่เขยฟัง รุ่งขึ้นพี่เขยจึงได้ไปยังสถานที่นั้น เมื่อลองลงไปงมดูก็พบว่าเป็นพระ จากนั้นนายปันซึ่งไปป่ามาพบก็ช่วยกันดึงขึ้นก็ดึงไม่ได้ จึงไปเรียกชาวบ้านมาช่วยกันดึงแล้วนิมนต์ไปไว้ที่วัด”

หลังจากข่าวการพบพระพุทธรูปแพร่กระจายออกไปมีชาวบ้านจากต่างหมู่บ้านและหน่วยงานราชการแห่กันมาชื่นชมพระพุทธรูป กระทั่งทางอำเภอดอยสะเก็ตจะขอนิมนต์พระดังกล่าวไปประดิษฐานไว้ที่ศาลาในอำเภอจนเกิดการแย่งชิงกันช่วงหนึ่ง เมื่อชาวบ้านยืนยันเจตนาที่จะขอดูแลพระพุทธรูปองค์นี้ให้เป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่หมู่บ้าน กลุ่มดังกล่าวก็ได้สลายตัวไป

DSC_7715

พระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระสิงห์สาม” นักวิชาการโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุราว 700 ปีเศษ เมื่อสอบถามชาวบ้านจึงได้รู้ว่า แท้จริงแล้วบริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนของชาวลัวะอาศัยมาก่อน จึงไม่แปลกที่เราจะพบวัดร้างเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายในบริเวณนี้ ชาวบ้านป่าสักงามจึงไม่ปฏิเสธว่าพวกเขาก็สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนชาวลัวะเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คนในหมู่บ้านไม่มีใครสืบทอดภาษาลัวะไว้ได้สักคน หลังจากแม่เฒ่าคนสุดท้ายที่สามารถพูดภาษาลัวะได้ตายไปจากหมู่บ้าน

ก่อนกลับออกมาจากหมู่บ้านทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของธีรภาพ โลหิตกุลอีกครั้งว่า “สถานที่อันยิ่งใหญ่ในบางจังหวะเวลาก็แลดูไร้ค่า แต่สถานที่ธรรมดาในเวลาที่เหมาะสมกลับแสนจะยิ่งใหญ่…สถานที่ เวลาและอารมณ์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับการเดินทาง”

DSC_7717

เฉกเช่นกับชาวบ้านป่าสักงามที่พวกเขา ให้อารมณ์กับการพบพระพุทธรูปว่า “พวกเขาทั้งหมู่บ้านจะช่วยกันดูแลรักษาพระพุทธรูปองค์นี้ให้เป็นมรดกคู่หมู่บ้านจะไม่ยอมให้ใครมาเอาพระพุทธรูปออกไปจากหมู่บ้านของเรา” ได้ยินได้ฟังเช่นนี้ก็ทำให้เกิดรอยยิ้มที่มุมปากของผมเมื่อยามนั่งเรือเดินทางกลับ บางทีบางสิ่งบางอย่างมิอาจสัมผัสได้ด้วยตา แต่อาจจะรับรู้ได้ด้วยหัวใจ หากผู้ไปเยือนตระหนักค่าแห่งการคิดคำนึง มากกว่าคิดคำนวน !!

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น