ไข้เลือดออก เริ่มระบาดหนัก ยังไม่ถึงครึ่งปีตายแล้ว14 “บิ๊กตู่”ห่วงเด็กติดช่วงนี้

acefmosuz246กรมควบคุมโรค เผยนายกรัฐมนตรี ห่วงช่วงเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก เผยไม่ถึงครึ่งปีมีคนเสียชีวิตไปแล้ว 14 ราย ป่วยอีกเกือบ 2 หมื่น แนะเร่งสานโครงการทำหมันยุง ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใครต้องสงสัยป่วยให้รีบพบแพทย์ด่วน

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ โรคที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคไข้เลือดออก ประกอบกับนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นห่วงสุขภาพของเด็กๆ และได้กำชับให้ทุกโรงเรียนเตรียมพร้อมรับเปิดเทอม โดยเฉพาะการป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ที่สำคัญในขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคนี้ เพราะฝนที่ตกมาจะทำให้มีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ และภาชนะต่างๆ เช่น จานรองกระถางต้นไม้ ขวด กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า รวมถึงขยะต่างๆ ที่รองรับน้ำฝนได้ จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–10 พฤษภาคม 2559 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 16,830 ราย เสียชีวิต 14 ราย ส่วน 10 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ระยอง ภูเก็ต สมุทรสาคร ศรีสะเกษ ตราด นครปฐม สมุทรปราการ สงขลา และสุรินทร์ นอกจากนี้ยังพบว่า กรุงเทพฯ ยังมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดของประเทศ คือ 3,482 ราย

นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค เน้นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ 1) การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด รวมถึงนอนในมุ้ง ทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง 2) ป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้วิธี 3 เก็บ (เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ) เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ 3) การกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย เป็นต้น

สำหรับโครงการทำหมันยุงลาย ที่กำลังได้รับความสนใจและกำลังอยู่ในขั้นตอนลงศึกษาทดลองในพื้นที่ หากประสบความสำเร็จ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดการแพร่พันธุ์ของยุงลาย โดยโครงการนี้เกิดจากการค้นพบเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียที่อาศัยอยู่ในตัวยุงลายสวน ซึ่งเชื้อโวลบาเกียมีคุณสมบัติพิเศษ ทำให้การสืบพันธุ์ในยุงเพศผู้ที่มีเชื้อกับยุงเพศเมียที่ไม่มีเชื้อล้มเหลว ทำให้ไข่ยุงฝ่อในที่สุด ในธรรมชาติยุงลายบ้านจะไม่มีเชื้อโวลบาเกีย แต่จะพบเชื้อในยุงลายสวน จากการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการทำให้สามารถสกัดเชื้อโวลบาเกียจากยุงลายสวน จากนั้นนำเชื้อฉีดใส่ในตัวยุงลายบ้านได้สำเร็จ แล้วนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อเพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ ที่สำคัญลูกหลานของยุงนี้จะได้รับเชื้อโวลบาเกียจากยุงตัวแม่โดยอัตโนมัติ โดยการส่งผ่านไปพร้อมกับไข่ยุง เนื่องจากเชื้อโวลบาเกียมักชอบอาศัยอยู่ในรังไข่ยุง ในการปล่อยยุงนั้นจะใช้เฉพาะยุงเพศผู้เท่านั้นและก่อนปล่อยจะทำการฉายรังสีให้เป็นหมันก่อนเพื่อทำให้ยุงเพศเมียมีเชื้อโวลบาเกียซึ่งอาจปะปนมาด้วยเป็นหมันและไม่สามารถหลุดไปแพร่พันธุ์ได้ และเนื่องจากยุงลายและเชื้อโวลบาเกียที่ใช้เป็นสิ่งที่พบอยู่ในธรรมชาติของประเทศไทยอยู่แล้ว จึงมีความปลอดภัย
ส่วนประโยชน์ที่ได้จากโครงการนี้ คือ 1.ช่วยลดจำนวนยุงในธรรมชาติ 2.สามารถใช้เป็นมาตรการเสริมร่วมกับการใช้สารเคมีควบคุมยุงตามปกติได้ ซึ่งการพ่นสารเคมีควรพ่นก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น เช่น เมื่อมีการระบาดของโรค ซึ่งวัตถุประสงค์ในการพ่นเพื่อกำจัดยุงที่กำลังมีเชื้อโรคระยะแพร่เชื้อหรือระยะบ่มเชื้ออยู่ในตัวให้ตายลงทันทีเท่านั้น 3.ยุงเพศผู้สามารถบินค้นหายุงเพศเมียที่ยังไม่ถูกผสมพันธุ์ ซึ่งมักเป็นยุงที่เกิดใหม่ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆแหล่งเพาะพันธุ์ ซึ่งพวกมันจะสามารค้นพบกันได้เองแม้ว่าแหล่งเพาะพันธุ์จะอยู่ซ่อนเร้นก็ตาม และ 4.เมื่อยุงลดปริมาณลงโอกาสที่จะมียุงจำนวนมากๆ มากัดผู้ป่วยและได้รับเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่นก็จะลดลง เป็นการช่วยตัดวงจรการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง

นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรค ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อพิจารณาสาระสำคัญ ข้อมูลวิชาการ และประเด็นเชิงนโยบายนี้ โดยมอบหมายให้นายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เป็นประธานคณะทำงาน นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลวิชาการต่างๆ พร้อมสนับสนุนการศึกษาทดลอง เพื่อให้ได้ผลการศึกษาดังกล่าว รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลไปศึกษาต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานไปในพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญโครงการทำหมันยุงนี้ ยังถือเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะหากประสบความสำเร็จแล้ว นอกจากจะลดการแพร่พันธุ์ของยุงลายและสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้แล้ว ยังสามารถควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ได้อีกด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น