เมืองรถม้าจัดประชุม แนวทางการจัดการ ความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

B5

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง, สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมระดมความคิดเห็นกลุ่มตัวแทนหน่วยงานองค์กรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการความเสี่ยง ที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่จังหวัดลำปาง ตามโครงการ “ศึกษาพัฒนาแนวทางการจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งได้มีการจัดการประชุมขึ้น ที่ห้องประชุมเวียงพนา โรงแรมลำปางเวียงทอง ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สถานพยาบาล องค์กรธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน ผู้นำชุมชน เกษตรกร และประชาชนผู้ที่สนใจทั่วไปในพื้นที่จังหวัดลำปาง รวมจำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุมสัมมนาทำกิจกรรมนำเสนอแนวความคิดการจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีร่วมกัน
สำหรับการประชุมสัมมนาดังกล่าวได้จัดขึ้น เพื่อต้องการศึกษาวิจัยประเมินผล การได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ในประชาชนเขตท้องที่จังหวัดลำปาง รวมทั้งเพื่อจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน ตัวแทนกลุ่มเสี่ยงของหน่วยงานองค์กรทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งการเป็นผู้ใช้สารเคมีโดยตรง เป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค รวมทั้งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ทั้งนี้เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้รับไปประมวลผลกำหนดเป็นแนวทางการมีส่วนร่วมของสังคม ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อจะช่วยลดผลกระทบที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น รวมถึงลดผลกระทบที่มีผลต่อเศรษฐกิจด้านการค้าการตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยการศึกษามีเป้าหมายในการที่จะสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เห็นถึงผลเสียของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะมีสารพิษตกค้าง เกิดเป็นผลกระทบระยะยาว ทั้งต่อตัวของประชาชนเองรวมถึงสิ่งแวดล้อมทั้ง ดิน น้ำ อากาศ และสัตว์อีกหลายชนิด กลายเป็นวงจรหมุนเวียนอยู่ในระบบห่วงโซ่อาหาร
โดยการประชุมสัมมนาตามโครงการฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.วรรณวิมล ภัทรสิริวงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และนายเธียรเอก ติยพงศ์พัฒนา นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำเนินงานกระบวนการวางแผน มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ อาทิ ชนิดและปริมาณสารพิษตกค้างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่องทางของสารพิษที่สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ลักษณะอาการของผู้ที่ได้รับสารพิษ และวิธีการป้องกันกำจัดสารพิษ เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้นำผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาร่วมระดมความคิดเห็น ศึกษาวิเคราะห์เหตุผลสัมพันธ์เกี่ยวกับผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งได้เน้นการศึกษาวิจัยเชิงพื้นที่เป็นหลัก โดยมุ่งหวังเพื่อจะให้ได้มาซึ่งแนวทางการจัดการความเสี่ยง ที่จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้แต่ละชุมชนท้องถิ่นได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจของระดับบริหาร เพื่อวางแผนการจัดการปัญหาความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น