นมัสการ พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปสำคัญของอำเภอบ้านโฮ่ง

DSC_6501 พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของล้านนา โดยตั้งชื่อตามลักษณะขององค์พระที่มีความใหญ่โต ในล้านนาเท่าที่ทราบมีการเรียกชื่อพระพุทธรูปที่มีความสูงใหญ่ (ตนหลวง) อยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่นที่วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา มีพระเจ้าตนหลวงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง และพระเจ้าตนหลวงที่วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน

นอกจากนั้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ก็ปรากฏชื่อของพระเจ้าตนหลวง วัดหล่ายแก้ว ต.ศรีเตี้ย ซึ่งมีพุทธลักษณะที่สูงใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 เมตร สูง 9.5 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ จุลศักราช 728 ตรงกับปี พ.ศ.1909 ความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เล่าว่า ครั้งหนึ่งสมัยที่เมืองเชียงแสนเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา ระยะนั้นพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีการก่อสร้างวัดวาอารามและพระพุทธรูป กระทั่งมีพระเถระรูปหนึ่งนามว่า สิริราชวฺโส ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดพระแก้วในพระราชวังของพระเจ้าแสนภู ท่านเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ เป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมจนสามารถรู้เห็นเหตุการณ์ในอดีตและอนาคตได้

พระคุณท่านได้สร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่โตขึ้น เพื่อไว้สักการะบูชาในพระราชวัง โดยให้ชื่อว่า พระเจ้าล้านตื้อ ปัจจุบันจมอยู่ในแม่น้ำโขงโดยมีชาวบ้านลงไปหาปลาแล้วพบชิ้นส่วนพระเมาลี (เปลวรัศมี) จากนั้นชาวบ้านจึงได้ช่วยกันกู้ขึ้นมาแล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมืองเชียงแสน

หลังจากที่พระเถระสิริราชวฺโส ได้สร้างพระเจ้าล้านตื้อแล้ว เช้าวันหนึ่งจึงได้ออกบิณฑบาต อันเป็นกิจวัตรของท่าน ขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงทารกเพศหญิงร้องไห้ ท่านได้เหลือบไปมองทารกนั้นเข้าก็เพ่งพิจารณารู้ด้วยญาณของตนเองว่า เด็กหญิงคนนี้แหละที่จะมาเป็นเนื้อคู่ของท่าน เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตแล้วก็มาพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของตนเองว่า หากท่านยังอยู่ที่เมืองเชียงแสนต่อไปความเสื่อมเสียทางเพศพรหมจารย์และเคราะห์ภัยอื่น ๆ อีกหลายอย่างจะเกิดขึ้น เมื่อท่านได้พิจารณาดังนี้แล้ว จึงตัดสินใจจาริกออกจากเมืองเชียงแสนมุ่งหน้ามาทางเมืองหริภุญชัย จนเลยไปถึงเขตแดนเมืองบ้านโฮ้ง เมื่อเห็นว่าไกลจากเนื้อคู่แล้ว ท่านจึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นและอยู่จำพรรษเสียที่นี่ จนเวลาต่อมาท่านจึงได้เริ่มสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่ง ให้เหมือนอย่างที่เคยสร้างไว้ในเมืองเชียงแสนขึ้นสักการะ รวมถึงเป็นการหลีกหนีจากเคราะห์ภัย จึงได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระเจ้าหลีกเคราะห์ กาลต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่า พระเจ้าตนหลวง

ด้วยเหตุที่ในอดีตวัดพระเจ้าตนหลวง ตั้งอยู่กลางป่าเขาสำเนาไพร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าทั้งหลาย ครั้งหนึ่งองค์พระเจ้าตนหลวงได้ถูกช้างป่าทำลายพังเสียหาย คงเหลือแต่เพียงพระเศียร นอกจากนั้นยังพบอักษรพื้นเมืองโบราณจารึกไว้ที่พระเมาลี ซึ่งอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ นักโบราณคดีแห่งล้านนาได้อ่านจารึกดังกล่าวความว่า “พระยาจอมปู่เรือนมูล ได้ริรังสร้างแป๋งพระพุทธรูปเจ้าคำองค์นี้ เมื่อปีสง้า แรม 7 ค่ำ ฤกษ์ 3 เดือนสารทะ”

DSC_6502

หลังจากที่พระเจ้าตนหลวงได้พังทลายลง ก็ได้มีความพยายามที่จะบูรณะองค์พระขึ้นหลายครั้งด้วยกัน คือ ในปี พ.ศ.2465 ท่านครูบายาสมุทร วัดเหล่ายาว คิดที่จะก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงขึ้น แต่ท่านก็มรณะภาพ้วยโรคชราเสียก่อน ต่อมาปี พ.ศ.2476 สมัยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ท่านได้เป็นประธานในการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงขึ้นใหม่ โดยที่ท่านจะไม่บูรณะองค์เก่า ทว่าถูกพระครูอินทนนท์ เจ้าคณะอำเภอปากบ่อง (อ.ป่าซาง) ขอให้ยุติการก่อสร้างออกไปก่อน

จนกระทั่งปี พ.ศ.2488 เมื่อท่านพระครูอินทรัตนคุณ เจ้าอาวาสวัดหล่ายแก้ว ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่สนใจในพระพุทธรูปเจ้าตนหลวงองค์นี้ ท่านได้เข้าไปนั่งวิปัสสนาในบริเวณนั้น ก็เกิดเหตุสังเวชใจ ได้เห็นพระเศียรของพระพุทธรูปตกอยู่บนพื้นดินหันพระพักตร์เข้าหาแท่น ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะบูรณะพระเจ้าตนหลวงขึ้นมา ท่านจึงได้รวบรวมชาวบ้านทั้ง 2 ตำบลคือ ตำบลเหล่ายาวและตำบลศรีเตี้ย กว่า 1,000 คนให้ช่วยกันในการบูรณะพระเจ้าตนหลวง ขณะที่กำลังแผ้วถางบุกเบิกกันอยู่นั้น ก็ได้พบพระเกศหลายองค์มีจารึกอักษรโบราณแบบเมืองเหนือ โดยท่านเห็นว่าอักษรเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างและสืบประวัติของพระเจ้าตนหลวงได้เป็นอย่างดี พระครูอินทรัตนคุณจึงมอบหมายให้พระดวงดี พรหมโชโต นำเอาพระเกศเหล่านั้นไปปรึกษากับอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในทางโบราณคดี

แล้วได้รายงานไปให้ทางกรมศิลปากรทราบ จากนั้นทางกรมศิลปากรจึงได้สั่งให้ศิลปากร หน่วยที่ 4 เชียงแสน ซึ่งมีนายจรูญ สุวรรณมาศ หัวหน้าหน่วย นายสมจิต เรืองคณะ นายช่างและนายสงวน โชติสุขรัตน์ นักโบราณคดีมาพิสูจน์ แล้วทำการขุดค้นอยู่นานถึง 2 เดือน จึงเสร็จสิ้นซึ่งผลจากการขุดค้นพบพระพุทธรูปหิน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยโยนกหรือสมัยขอม 2 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 17 นิ้ว ส่วนองค์พระเจ้าตนหลวง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย พร้อมกับได้ออกแบบแปลนต่อเติมบูรณะพระเจ้าตนหลวงโดบมอบหมายให้คณะสงฆ์และศรัทธาประชาชนเป็นผู้ดำเนินการบูรณะ

ปัจจุบันพระเจ้าตนหลวง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหล่ายแก้ว ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ้ง จ.ลำพูน ทุกปีระหว่างวันแรม 13 – 15 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) จะมีงานสมโภชสรงน้ำพระเจ้าตนหลวง

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น