สนข.ตั้งงบพัฒนารถไฟสายใหม่เด่นชัย – เชียงใหม่ 6 หมื่น ล. ผลักดันเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอาเซียน

IMG_7817
นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่เปิดเวทีถกรถไฟรางคู่ เด่นชัย-เชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ชี้เชียงใหม่เป็นหัวเมืองหลักที่สำคัญของภาคเหนือ เป็นศูนย์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟต้องตัดผ่านถนนโครงข่ายหลายเส้นทาง จึงออกแบบจุดตัดทางรถไฟให้เหมาะสมกับการคมนาคมที่มีอยู่เดิม โดยให้ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด คาดมูลค่าการลงทุนประมาณ 61,068 ล้านบาท

IMG_7823
วันนี้ (26 พ.ค. 59) เวลา 09.00 น. นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนา รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาโครงการ) โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย–เชียงใหม่ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการ ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชน ใน จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงานกว่า 200 คน ณ ห้องเชียงใหม่ ชั้น 2 ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส

ทั้งนี้นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำหนดวิสัยทัศน์ให้จังหวัดเชียงใหม่เป็น “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง บนฐานของความสง่างามทางวัฒนธรรม และศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนระดับสากล” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ 5 ประเด็นประกอบด้วย 1.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุล และยั่งยืน 2.การสร้างสังคมแห่งวัฒนธรรม ความรู้ ภูมิปัญญา จิตสาธารณะ และพัฒนาศักยภาพคนให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง 3.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติพลังงาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4.การสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และความสงบสุขของประชาชน 5.การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐและการให้บริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม

IMG_7821

นายมงคล กล่าวต่อว่า การพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายรวมของจังหวัด ต้องได้รับการสนับสนุนแผนการพัฒนาที่สอดคล้องกันจากภาครัฐ ดังนั้น การที่กระทรวงคมนาคมกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ จึงเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้แผนการพัฒนาของจังหวัดสัมฤทธิ์ผล ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพิ่มโอกาสการพัฒนาด้านอื่นๆ รวมทั้งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการเดินทางและการขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี การส่งเสริมให้ยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ดังนั้น การสัมมนารับฟังความคิดเห็นฯ ในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับทราบผลสรุปการศึกษาโครงการจาก สนข. และคณะผู้ศึกษา และสามารถซักถามข้อสงสัยได้โดยตรง ตลอดจนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงประเด็นปัญหาและข้อกังวลต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เพื่อ สนข. และคณะผู้ศึกษาจะได้นำข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปใช้ประกอบการศึกษาพัฒนาโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

S__1654800
นายสุชัย รอยวิรัตน์ ผู้จัดการโครงการฯ

ด้านนายสุชัย รอยวิรัตน์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ได้มีนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมในทุกด้าน โดยมีแนวทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ แนวเส้นทางเลือกที่ 4 ซึ่งจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีผู้ให้ความเห็นสนับสนุนถึงร้อยละ 86.53 โดยเป็นการสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ใหม่ 1 ทางขนานกับทางรถไฟเดิม แนวเส้นทางโครงการ จะผ่าน 30 ตำบล 10 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และ จังหวัดเชียงใหม่ โดยช่วงสถานีรถไฟเด่นชัย ถึง สถานีรถไฟห้างฉัตร จะใช้แนวเส้นทางเดิมเป็นหลัก แต่จะมีการปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วนช่วงสถานีรถไฟห้างฉัตร ถึง สถานีรถไฟลำพูน จะเป็นการก่อสร้างแนวรถไฟใหม่ทั้งหมด และช่วงสถานีรถไฟลำพูนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ จะเป็นการสร้างทางคู่ขนาดกับแนวเส้นทางรถไฟเดิม มีระยะทางรวม 189 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับพื้น 103 กม. ทางยกระดับ (Viaduct) 44 กม. และสะพานบก (Short Span Bridge) 25 กม. มีสถานีหลักตามแนวเส้นทาง 18 สถานี ได้แก่ ปากปาน แก่งหลวง ห้วยแม่ต้า บ้านปิน ผาคัน ปางป๋วย แม่จาง แม่เมาะ ศาลาผาลาด แม่ทะ หนองวัวเฒ่า นครลำปาง ห้างฉัตร ศาลาแม่ทา ลำพูน ป่าเส้า สารภี และ เชียงใหม่ โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ที่ อำเภอสารภี และ ศูนย์ขนส่งสินค้า (CY) 2 แห่ง คือ พื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์ซ่อมบำรุงและที่ อำเภอห้างฉัตร รวมทั้งมีการแก้ไขจุดตัดทางรถไฟจำนวน 119 จุด ที่ไม่รวมจุดตัดที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทดำเนินการ โดยการออกแบบจะเป็นไปตามมาตรฐานของ American Railway Engineering and maintenance – of – Way Association (AREMA) และการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหลัก

Board denchai 1 Create

นายสุชัย กล่าวต่อไปว่า จากผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 61,068 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,312 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 12.06 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 291 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับร้อยละ 1.01 มูลค่าผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจทางตรงทั้งหมด 4,298.39 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่า ในปี พ.ศ.2565 จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 3,963,535 คน-เที่ยว/ปี ขนส่งสินค้าจำนวน 0.91 ล้านตัน/ปี

ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่เป็นหัวเมืองหลักที่สำคัญของภาคเหนือ เป็นศูนย์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว จึงมีเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่หนาแน่น ในการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟต้องตัดผ่านถนนโครงข่ายหลายเส้นทาง จึงออกแบบจุดตัดทางรถไฟให้เหมาะสมกับการคมนาคมที่มีอยู่เดิม โดยให้ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด เช่น จุดตัดบริเวณ ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี ได้ออกแบบแก้ปัญหาเป็น U-Turn Box Culvert ซึ่งชุมชนสามารถข้ามทางรถไฟนี้ได้ด้วย ในส่วนการจ่ายค่าชดเชยการเวนคืนที่ดิน ยึดหลักตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2556

Board denchai 2 Create

นายสุชัย กล่าวอีกว่า หากการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ แล้วเสร็จตามแผนที่ สนข.ได้ศึกษาไว้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจ้างงาน และการกระจายรายได้ในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างความสุขให้กับประชาชน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวล้านนาให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาที่ดินและย่านพาณิชยกรรมในบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟอีกด้วย ที่สำคัญ จะมีการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการกระตุ้นการธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือ และส่งผลให้เชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นผู้นำและศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศแถบอาเซียนในอนาคตด้วย

หลังจากการสัมมนา สนข.จะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรีต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการได้ที่ www.denchai-chiangmai-doubletrack.com และแฟนเพจรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวส่งท้าย

Board denchai 3 Create Board denchai 4 Create Board denchai 5 Create Board denchai 6 Create

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น