สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เตือนประชาชน อย่ากินเห็ดป่าที่ไม่รู้จัก อันตรายถึงชีวิตได้

S__47972377 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เตือนอันตรายจากการกินเห็ดพิษ แนะประชาชน ไม่ควรเก็บเห็ดหรือเลือกซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหาร เมื่อนำเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงเป็นอาหารร่วมกับเห็ดชนิดอื่น ก็อาจทำให้เกิดพิษได้

นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกหลังจากฝนตกจะมีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติ ตามป่าเขาจำนวนมาก มีเห็ดทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ ซึ่งคือ “เห็ดพิษ” แต่กลับมีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่กินได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเก็บมากินจนเป็นอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งพบทุกปี
จากรายงานเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา ฝ่ายควบคุมโรคและป้องกันโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเดือนมกราคม–ธันวาคม ปี2558 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษ จำนวน 3 ราย และเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี2559 ยังไม่มีรายงานรับแจ้งผู้ป่วยกินเห็ดพิษ โดยอาการเจ็บป่วย หลังกินเห็ด พบได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ซึ่งเห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุด คือ เห็ดระโงกหิน หรือ เห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์ และฟาโลท็อกซินส์ ที่จะทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้น แม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง และอาการป่วยจะปรากฏหลังกินเห็ดพิษประมาณ 3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง

วิธีสังเกตลักษณะของเห็ดที่มีพิษ ส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐานกับที่วงแหวนเห็นชัดเจน สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาวถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง ผิวของหมวกเห็ดส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่ ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใสๆรูปไข่กว้าง

S__47972376คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกรับประทานเห็ด มีดังนี้

1. ควรเลือกรับประทานเห็ดที่รู้จักดี เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดลม เห็ดโคน เป็นต้น

2. เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน โดยขุดให้ลึก เพราะหากเด็ดแต่ด้านบนแล้ว จะไม่เห็นลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น กระเปาะ ซึ่งอยู่ติดกับดิน ใช้บ่งบอกชนิดของเห็ดพิษร้ายสามารถสังเกตได้ คือมีสีเข้มจัด เช่น แดง ส้ม ดำ หรือมีสีฉูดฉาด มีแผ่น หรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีวงแหวนพันรอบบนก้านดอกเห็ด วงแหวนนี้จะเป็นตัวเชื่อมเนื้อเยื่อของหมวกเห็ด และก้านดอกให้ติดกันเมื่อดอกเห็ดบาน มีขน หรือหนามเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่น โดยส่วนมากจะเป็นกลิ่นเหม็น มีน้ำ

3. เก็บแต่เห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์เท่านั้น หลีกเหลี่ยงเห็ดที่อ่อนเกินไป ลักษณะต่างๆ ที่ใช้จำแนกชนิดยังไม่เจริญพอ หลีกเหลี่ยงเห็ดที่แก่หรือเริ่มเน่าเปื่อย เพราะเห็ดบางชนิด เมื่อแก่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีจนทำให้มีพิษอย่างอ่อนได้

4. อย่าเก็บเห็ดภายหลังพายุฝนใหม่ๆ มีเห็ดบางชนิดที่สีบนหมวกอาจถูกชะล้างให้จางลงได้

5. ห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด เพราะเห็ดบางชนิดมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้กินจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ เมื่อกินหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้

6. ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือ ข้างถนน เนื่องจากเห็ดและเชื้อรามีคุณสมบัติดูดซับสารพิษต่างๆสะสมไว้ในตัวไว้มากรวมถึงโลหะหนัก

7. การตรวจสอบเห็ด เช่น ต้มกับข้าวสาร ช้อนเงิน อาจใช้ได้บ้างแต่ไม่แน่นอน และใช้ได้กับเห็ดตระกูลไข่ ควรใช้สำหรับการทดสอบเพียงเบื้องต้นเท่านั้น

หลักสำคัญคือ ต้องรู้จักเห็ดชนิดนั้นเป็นอย่างดี ก่อนจะนำมาปรุงอาหาร ส่วนในรายการที่สงสัยว่าเกิดอาการจากเห็ด ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อล้างท้องโดยด่วนและควรนำเห็ดที่รับประทานไปให้แพทย์ดูด้วยจะทำให้ช่วยเหลือได้ทันการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น