ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือแจ้งด่วน ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด สั่งจับตาน้ำส้ม น้ำผลไม้ปลอม !!!

S__48038050

S__48038051

วันที่ 27 พ.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีข่าวสารปรากฎว่ามีผู้ผลิตน้ำส้มคั้นปลอม น้ำทับทิมปลอม บรรจุขวดออกจำหน่ายซึ่งไม่ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายและอาจมีสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วอาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยหรือเกิดโรคได้นั้น ล่าสุดทาง นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำการออกหนังสือราชการเพื่อแจ้งให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทราบข้อมูล เพื่อเป็นการดูแลทุกข์สุข ความเดือดร้อนของราษฎร ระวังป้องกันโรคร้ายและสาเหตุเกิดโรคร้าย อันเป็นหน้าที่ของนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 27(4) มาตรา 36 มาตรา 109 และมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ในการระวังป้องกันมิให้ประชาชนเดือดร้อนหรือเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำส้มคั้น น้ำผลไม้ปลอมหรือไม่ได้มาตรฐานของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้งนี้ได้มีคำสั่งให้จังหวัดดำเนินการโดย แจ้งให้อำเภอมอบหมายปลัดอำเภอประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประสานขอความร่วมมือเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบสถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหารที่เป็นแหล่งผลิตหรือจำหน่ายน้ำส้ม น้ำทับทิม หรือน้ำผลไม้อื่นในพื้นที่รับผิดชอบ แล้วตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหาร กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และตรวจสอบน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ที่ผลิตหรือจำหน่าย หากพบว่าสถานที่ผลิตหรือจำหน่ายตัวสินค้าหรืออาหารที่จำหน่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายข้างต้นหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือเป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผุ้บริโภคให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางปกครองและทางอาญาอย่างเฉียบขาด
ขณะเดียวกัน เมื่อมีประชาชนร้องเรียนมายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ ว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการบริโภคน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ ขอให้จังหวัดดำเนินการตามที่ได้ชี้แจงไปข้างต้น หรือตรวจสอบเพื่อค้นหาความจริงและพฤติการณ์แห่งคดี แล้วดำเนินการ ซึ่งหากพบว่าเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ให้ดำเนินคดีอาญาในทันที ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขด้วย ขอให้นายอำเภอกำชับพนักงานสอบสวน ฝ่ายปกครอง ทำการสอบสวนด้วยตนเอง หากเป็นคดีตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจทำการสอบสวน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้เสียหายจะไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ใช้ดุลพินิจเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
และหากผู้เสียหายประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ขอให้อำเภอจัดให้มีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามอำนาจหน้าที่ หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ขอให้อำนวยความสะดวกแก่ผุ้เสียหายในการขอความช่วยเหลือจากสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด สำนักงานยุติธรรมจังหวัด หรือสถาทนายความจังหวัด ในการดำเนินการคดีแพ่งและคดีตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย
นอกจากนี้ให้มีการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางเพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าหรืออาหารที่ไม่ปลอดภัย ด้วยการเลือกบริโภคน้ำผลไม้ที่ไม่บรรจุขวดที่สะอาด ได้มาตรฐานและได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากจำเป็นต้องบริโภคน้ำผลไม้คั้นสด ควรเลือกซื้อจากร้านหรือสถานที่ที่มีการคั้นสดและเห็นการคั้นด้วยตาตนเองเท่านั้น
ขณะที่ทาง นายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากกรณีข่าวพบผู้กระทำความผิดผลิตน้ำส้มปลอมที่ จ.สระบุรี และมีขั้นตอนการผลิตเป็นไปอย่างไม่ถูกสุขลักษณะนั้น ผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวโดย ขอให้ประชาชนหมั่นสังเกต และสอบถามผู้ขายให้ชัดเจนว่ามีขั้นตอนการทำอย่างไร อย่าเพิ่งเชื่อเพียงแค่เห็นเปลือกส้ม หรือผลส้มวางอยู่หน้าร้าน
ในการนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดมา สำหรับการผลิตน้ำส้มคั้นขายจะมี 2 กรณี

กรณีที่1 ผลิตบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทแล้วส่งไปขายตามร้านค้าต่าง ๆ ต้องขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ก่อน และต้องทำการผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด คือ สถานที่ผลิตต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก็ต้องทำอย่างถูกสุขลักษณะ หากฉลากระบุว่าเป็นน้ำส้มคั้นสด 100% หมายความว่า ห้ามใส่อะไรลงไปเด็ดขาด นอกจากนี้ ฉลากยังต้องแสดงชื่อสินค้า สถานที่ผลิต ส่วนประกอบ รวมถึงมีเครื่องหมาย อย.13 หลัก ที่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้ผู้บริโภคทราบด้วย
กรณีที่2 ร้านค้า รถเข็น ที่คั้นสด ๆ เป็นการจำหน่ายตรงแก่ผู้บริโภค ไม่ต้องขออนุญาตผลิตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.แต่ต้องขออนุญาตในการเปิดร้านจำหน่ายจากท้องที่ก่อน และการดำเนินการต้องถูกสุขลักษณะ
สำหรับผู้ผลิตตามกรณีที่ 1 ที่ผลิตแล้วส่งขายตามร้านค้าต่างๆ ถ้าไม่มีการแสดงฉลาก เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 (10) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และหากส่งตรวจวิเคราะห์แล้วพบว่าไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกฎหมาย เช่น ใส่สี วัตถุกันเสียเกินปริมาณกำหนดหรือมีเชื้อจุลินทรีที่ทำให้เกิดโรค เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25(3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในตอนท้ายว่า การเฝ้าระวังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างต่อเนื่องตลอดมาทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ อย่างไรก็ตามหากพบเบาะแสหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เบอร์ติดต่อ 053-211048 หรือ 053-894742 ในเวลาราชการหรือ สายด่วนผู้บริโภค โทร 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น