ราชบัณฑิตยสภา จัดสัมนานักวิชาการท้องถิ่นภาคเหนือ หวั่นภาษาถิ่นเลือนหาย

จัดเสวนา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 พ.ค.59 นายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการในเรื่อง “บทบาทของท้องถิ่นต่อการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายการวิทยุภาษาไทยถิ่น 3 ภาค และ พจนานุกรมภาษาไทยถิ่น 3 ภาค ฉบับราชบัณฑิตยสภา ในโครงการ รู้ รัก ภาษาไทย” โดยมีกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ และนักวิชาการภาคเหนือ นำโดย ศ.ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ เข้าร่วมในการจัดเสวนาครั้งนี้ ณ ห้องธาราทอง 2 โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเชียงใหม่
โดยโครงการที่จัดขึ้นนี้สืบเนื่องจาก ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ข้อหนึ่งคือ “จัดการศึกษาอบรมและพัฒนาทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาไทยถิ่น” ซึ่งได้ดำเนินการผลิตและออกอากาศรายการวิทยุเกี่ยวกับภาษาไทยถิ่น 3 ภาค เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยถิ่นต่างๆ คือ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทยถิ่นใต้ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 ทำให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภารวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยถิ่นทั้ง 3 ภาคไว้เป็นจำนวนมาก สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นต่างๆ ฉบับราชบัณฑิตยสภา ที่เป็นมาตรฐานของประเทศสำหรับใช้อ้างอิงทางวิชาการ และปรับปรุงรายการวิทยุให้สอดคล้องกับพันธกิจ โดยรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้นักวิชาการท้องถิ่นและประชาชนผู้สนใจมีส่วนร่วมในการจัดทำพจนานุกรมและรายการวิทยุภาษาไทยถิ่น 3 ภาคของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงจัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง วนร่วม ในการจัดทำรายการวิทยุภาษาไทยถิ่น 3 ภาค และพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น 3 ภาค ฉบับราชบัณฑิตยสภา ในโครงการรู้ รัก ภาษาไทย โดยให้คณะกรรมการดำเนินการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ จำนวน 3 กลุ่ม ได้พบปะกับนักวิชาการและผู้ฟัง ภาคละ 1 ครั้ง รวม 3 ครั้ง อีกทั้ง เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละภูมิภาคให้มีส่วนร่วมกับการดำเนินการจัดทำรายการวิทยุภาษาไทยถิ่น 3 ภาค และพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น 3 ภาคของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งจะดำเนินการถ่ายทอดสดการเสวนาทางวิชาการตลอดงาน โดยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริม เผยแพร่ และรณรงค์ การใช้ภาษาไทย-ภาษาถิ่น ให้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังขยายขอบเขตการรณรงค์ให้มีการใช้ภาษาถิ่นอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และเพื่อไม่ให้ภาษาถิ่นสูญหาย ทั้งนี้ ด้วยตระหนักว่าภาษาถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่น และบ่งบอกถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป

IMG_7605
ทั้งนี้ทาง นายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพบกับนักวิชาการท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อที่จะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดทำ พจนานุกรมภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ ซึ่งกำลังเริ่มดำเนินการโดยทาง ราชบัณฑิตยสภา ก็มีพจนานุกรมแต่เป็นภาษาไทย แต่ภาษาถิ่นทางราชบัณฑิตยสภา ยังไม่ได้ทำแต่ก็พอจะมีองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวพอสมควรแล้วจึงมีโครงการที่จะเริ่มทำทั้ง 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากทางเหนือก่อน จึงได้มีการจัดจั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ โดยได้มีการกำหนดกรอบเพื่อทำให้พจนานุกรมภาษาถิ่นเป็นฉบับมาตรฐานที่สามารถใช้อ้างอิงในทางวิชาการได้
ขณะเดียวกัน ในราชบัณฑิตยสภา ได้กำหนดให้มีการดูแลเรื่องของภาษาทั้งภาษาไทย และภาษาถิ่น ซึ่งในภาษาไทยนั้นมีหลักเกณฑ์ที่จะทำค่อนข้างเยอะ แต่ในภาษาถิ่นนั้นยังไม่ได้มีการดำเนินการ โดยตอนนี้ทางราชบัณฑิตยสภา ก็มีความสนใจในเรื่องภาษาถิ่น เนื่องจากภาษาถิ่นนั้นเป็นภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของท้องถิ่น หากภาษาถิ่นเลือนหายไปก็ส่งผลต่อวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน เนื่องจากวัฒนธรรมบางอย่างมีความสอดคล้องกับภาษาถิ่น เมื่อคนในท้องถิ่นไม่ใช้ภาษาถิ่น ก็จะทำให้วัฒนธรรมค่อยๆ เลือนหายไป นอกจากนี้แล้ว ภาษาถิ่นยังเป็นวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ที่มีความสวยงาม เนื่องจากการพูดภาษาในแต่ละท้องถิ่นนั้นจะมีเสียง มีสำเนียงแตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบันการพูดจาส่วนใหญ่กลับเน้นภาษาไทยเป็นหลัก และทำให้คนท้องถิ่นนั้นอายไม่กล้าที่จะพูดภาษาท้องถิ่น และบางครั้งก็มีการเอาภาษาไทยมาผสมกับภาษาถิ่น หรือที่เรียกว่า “พูดทองแดง”
เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาทางราชบัณฑิตยสภา ยังได้มีการจัดโครงการส่งเสริมในด้านต่างๆ เช่นการประกวดให้เยาวชนในท้องถิ่นพูดในเรื่องความภูมิใจของท้องถิ่นตัวเอง โดยใช้ภาษาถิ่น ที่ได้จัดต่อเนื่องมาทุกปี โดยจะคัดเลือกเด็กที่พูดได้ดีที่สุดเมื่อชนการประกวดก็จะมีรางวัลให้ และให้เด็กที่ชนะการประกวดมาพูดภาษาถิ่นในวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ครอบคลุมการเรียนการสอนและปลูกจิตสำนึกที่ดีในการพูดภาษาถิ่น ซึ่งคาดว่าจะเร่งดำเนินการให้พจนานุกรมภาษาถิ่นจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งถือว่าเร็วที่สุด เนื่องจากแต่ละถิ่นนั้นมีคำเยอะมาก โดยต้องขอความร่วมมือกับทางนักวิชาการท้องถิ่นในการช่วยอีกทางหนึ่ง เนื่องจากทางท้องถิ่นนั้นจะมีพจนานุกรมเก่าที่มีการทำไว้บ้างแล้ว แล้วจะเก็บมาตรวจดูว่ามีคำใดบ้าง และขาดตกบกพร่องตรงไหน เช่น ขาดในรูปของการออกเสียง การเขียนรูปของตัวอักษรล้านนา เป็นต้น ทางราชบัณฑิตยสภา ก็จะเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น