เร่งสานฝัน รถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่

b2 w=12h=5
สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเดินหน้ารถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงใหม่ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคองค์กร และประชาชน ครั้งที่ 3 ทั้งนี้ หากเกิดเส้นทางรถไฟทางคู่ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุน การส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้แก่ชุมชน
นางชูสม รัตนนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการ ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา ตัวแทนจากภาคประชาชน ที่โรงแรมแม่ยมพาเลส อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
ทั้งนี้ทางสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ซึ่งรับผิดชอบโครงการได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาที่เหมาะสมในทุกด้าน มีแนวทางเลือกที่ดีที่สุด โดยจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เห็นควรเลือกเส้นทางเลือกที่ 4 ซึ่งมีผู้สนับสนุนถึงร้อยละ 86.53 โดยเป็นการสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตรใหม่ 1 ทางขนานกับทางรถไฟเดิม โดยเส้นทางจะผ่าน 30 ตำบล 10 อำเภอ 4 จังหวัดได้แก่ แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ โดยช่วงสถานีรถไฟเด่นชัย-สถานีรถไฟห้างฉัตร จะใช้เส้นทางเดิมเป็นหลัก แต่ช่วงสถานีรถไฟห้างฉัตร- สถานีรถไฟลำพูน จะเป็นการก่อสร้างแนวรถไฟใหม่ทั้งหมด และจากสถานีรถไฟลำพูน- สถานีรถไฟเชียงใหม่ จะสร้างทางคู่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิม รวมระยะทาง 189 กิโลเมตร
จากการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจพบว่าโครงการมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 61,068 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 60,312 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์เท่ากับร้อยละ 12.06 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ เท่ากับ 291 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน เท่ากับร้อยละ 1.01 มูลค่าผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจทางตรงทั้งหมด 4,298.39 ล้านบาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จคาดว่าปี 2565 จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 3,963,535 คนต่อปี ขนส่งสินค้าจำนวน 0.91 ล้านตันต่อปี จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุน การจนส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้แก่ชุมชน
สำหรับช่วงผ่านจังหวัดแพร่ แนวเส้นทางโครงการจะพาดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3 แห่ง และผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร จึงมีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเช่นด้านทรัพยากรป่าไม้ มีการออกแบบเส้นทางเป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ เพื่อลดผลกระทบต่อป่าและพื้นที่ต้นน้ำ นอกจากนี้ยังมีแผนจะปลูกป่าชดเชยตามหลักเกณฑ์ของกรมป่าไม้

ร่วมแสดงความคิดเห็น