มช.ย้ำอนุรักษ์ ย้ายต้นไม้ใหญ่ ร่วม 300 ต้น หนีพื้นที่ก่อสร้าง ลั่นไม่มีตัดทิ้ง

ดูแลต้นไม้ (1)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลต้นไม้ที่ย้ายจากสถานที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตาดชมพูอย่างเต็มกำลัง หลังจากย้ายไปปลูกบริเวณไร่ฟอร์ด หน้าหอพัก 40 ปี คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และสำนักบริการวิชาการ โดยได้จัดทำแผนการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 2560 ขณะนี้ต้นไม้แข็งแรงดี และเริ่มแผ่กิ่งก้านแล้วในทุกพื้นที่

นายนิคม บัววังโป่ง ผู้อำนวยการกองอาคารและสถานที่ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีนโยบายก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ บริเวณห้วยตาดชมพู ซึ่งได้มีการย้ายต้นไม้จากบริเวณดังกล่าว ไปปลูกยังบริเวณฝั่งตรงข้ามหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไร่ฟอร์ด) และพื้นที่สนามกีฬาหน้าหอพัก 40 ปี ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของมหาวิทยาลัย การย้ายต้นไม้ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งในช่วงก่อนการขนย้าย ระหว่างการขนย้าย และการดูแลรักษาหลังการย้าย เพื่อให้ต้นไม้แข็งแรงและเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับต้นไม้ที่ได้ทำการสำรวจมีจำนวน 330 ต้น มีต้นไม้ที่ย้ายไปปลูกได้ 283 ต้น ซึ่งแบ่งย้ายไปยัง บริเวณฝั่งตรงข้ามหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไร่ฟอร์ด) 99 ต้น พื้นที่สนามกีฬาหน้าหอพัก 40 ปี 155 ต้น คณะนิติศาสตร์ 6 ต้น คณะสังคมศาสตร์ 3 ต้น และสำนักบริการวิชาการ 22 ต้น

ดูแลต้นไม้ (2)
หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ที่การขุดล้อมและทำการปลูกลงสถานที่แห่งใหม่แล้ว การย้ายต้นไม้ดังกล่าวต้องมีการบำรุงรักษาอย่างใกล้ชิด โดยทีมงานที่มีความรู้ความสามารถในเชิงหลักวิชาการเกษตร จึงได้จัดจ้างเอกชนเข้ามาดูแล โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 มีระยะเวลา 90 วัน คือ วันที่ 17 มกราคม – 15 เมษายน 2559 และปัจจุบันเป็นการดูแลต่อเนื่องในช่วงที่ 2 มีระยะเวลา 1 ปี คือ วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 – 16 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงของการค้ำยันป้องกันการล้ม เพิ่มความแข็งแรงแก่ต้นไม้ เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ทางด้าน นายณัฐวิทย์ ครูบา หัวหน้างานอาคารสถานที่ กองอาคารและสถานที่ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเรื่องขั้นตอนการเตรียมต้นไม้สำหรับขุดย้าย การขนย้ายและการปลูก รวมถึงการดูแลรักษา ว่า การย้ายต้นไม้และการบำรุงรักษานั้นเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเตรียมการขุดล้อม ด้วยการตัดทอนกิ่งเพื่อลดขนาด ลดการคายน้ำ สะดวกต่อการขนย้าย หลังจากนั้นทำขุดล้อมอย่างระมัดระวังด้วยกำลังคนเป็นหลัก โดยทำการหุ้มตุ้มตามขนาดของต้นไม้ หุ้มด้วยกระสอบและสแลน ใส่ขุยมะพร้าวเพิ่มความชุ่มชื้น จากนั้นทำการขนย้ายด้วยรถเครนขนาดใหญ่ เมื่อถึงจุดปลูก จะทำการระบุตำแหน่งของแต่ละพันธุ์ไม้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย

เมื่อลงปลูกแล้วเสร็จ เป็นช่วงเข้าสู่การดูแลรักษาต้นไม้ในระยะที่ 1 มีระยะเวลา 90 วัน คือ วันที่ 17 มกราคม – 15 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยได้ทำการเลือกกิ่งที่สมบูรณ์เก็บไว้ ตัดแต่งกิ่งแขนงเล็กๆออก เพื่อลดการคายน้ำ ลดการแย่งน้ำเลี้ยงและธาตุอาหาร กำจัดวัชพืชรอบโคนต้น ให้ปุ๋ยสูตรละลายช้า รดน้ำตามหลังให้ปุ๋ยทางดิน พ่นปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน อาหารเสริม และยากำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ยังได้ทำการกำจัดปลวกที่กินเปลือกนอกของลำต้นด้วย

สำหรับการดูแลในระยะที่ 2 มีระยะเวลา 1 ปี คือ วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 – 16 พฤษภาคม 2560 เป็นการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นสารกระตุ้น สารป้องกันที่เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้เป็นประจำตามวงรอบของความจำเป็น โดยพิจารณาจากลักษณะของแต่ละต้น อีกทั้งจะมีการป้องกันการเกิดโรคแมลง ตัดแต่งกิ่งก้านกำหนดรูปทรง เพื่อแก้ปัญหาที่มีผลต่อการเจริญเติมโตอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้ทำการเพิ่มวัสดุค้ำยัน เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ต้นไม้ และจะมีการจัดทำรายงานการทำงานและรายงานบันทึกเกี่ยวกับต้นไม้ที่จำเป็นส่งมหาวิทยาลัยทุกๆ 30 วัน เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการกองอาคารและสถานที่ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน ต้นไม้ที่ย้ายไปบริเวณฝั่งตรงข้ามหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไร่ฟอร์ด) และพื้นที่สนามกีฬาหน้าหอพัก 40 ปี รากต้นไม้ได้เจริญเติบโตและแผ่ขยายผลิใบมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 90 % แล้ว บางต้นแตกกิ่งก้านกว่า 1 เมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการค้ำยันเพื่อป้องกันการล้ม เพราะรากยังเป็นรากอ่อนอยู่ คาดว่าหากครบ 1 ปี จะสมบูรณ์เต็มที่ ในส่วนของต้นไม้ที่ย้ายไปปลูกยังคณะนิติศาสตร์ สังคมศาสตร์และสำนักบริการวิชาการ ได้เจริญเติบโตสมบูรณ์แล้ว แต่มีบางช่วงที่เหี่ยวเฉาบ้าง ซึ่งจะได้ส่งทีมงานไปแนะนำเรื่องการดูแล การรดน้ำ การบำรุงรักษา เพื่อให้รากต้นไม้สมบูรณ์ในที่สุดในทุกพื้นที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น