น้ำยังน้อย แม้ฝนชุก ให้ประหยัดต่อ สถานการณ์ยังไม่สู้ดี ชี้สถิติต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เชียงใหม่
นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เชียงใหม่

“ผอ.ศูนย์อุตุฯ” แจง ฝนชุกแต่ปริมาณยังน้อย มิถุนายนยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องเข้มประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง ชี้ฝนจะมีมากต้องกลางเดือนกรกฎาคมไปแล้ว เผยภูมิอากาศเปลี่ยนเป็น “ลานิญ่า” ตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นไป แต่จะไม่ส่งผลต่อปริมาณฝนทันที เทือกเขาอินทนนท์ยังเป็นอุปสรรคทำให้ฝนไม่ตกในเชียงใหม่ ส่วนมากข้ามไปตกที่น่านและพะเยาเป็นหลัก พร้อมเคาะตัวเลขภายใน 3 เดือนถัดจากนี้ปริมาณฝนสูงสุดไม่เกิน 200-250 มิลลิเมตร

ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เชียงใหม่ แจงการคาดหมายสภาพอากาศเดือนมิถุนายน 2559 ว่า ในช่วงนี้บริเวณภาคเหนือแม้ว่าจะมีฝนตกแล้ว แต่ฝนยังมีค่าน้อยกว่าค่าปกติเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่สู้จะดีนัก ถึงแม้ว่าจะเข้าฤดูฝนมาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมาก็ตาม

“ภาพรวมตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2559 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 พื้นที่ที่มีฝนมากกว่าค่าปกติได้แก่ จ.น่าน จ.เชียงราย และจังหวัดในภาคอีสาน แต่เมื่อกลับมาดูในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่ามีปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ยราว 100 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สำหรับฝนที่ตกในช่วงนี้จะเป็นอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่เชียงใหม่มีพื้นที่ที่ติดเทือกเขาอินทนนท์ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้ฝนหลุดและข้ามออกไปไม่ตกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะไปตกในพื้นที่ จ.น่าน และ จ.พะเยา” ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าว

“สำหรับจังหวัดเชียงใหม่จะมีฝนอีกครั้งจะผ่านช่วงวันที่ 7 พ.ค.59 ไปแล้ว ช่วงนี้จนถึงวันที่ 1 พ.ค.59 จะมีฝนบ้างแต่ตกเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้นช่วงวันที่ 4-6 พ.ค.59 ฝนก็จะลดน้อยลง หากมีบ้างก็จะตกในช่วงบ่ายถึงค่ำแต่เป็นฝนเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสภาพฝนเช่นนี้จะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ส่วนในระยะยาวนั้นสภาวะลานิญ่าจะมีผลต่อภูมิอากาศในเชียงใหม่ตั้งเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงว่าจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ฝนเพิ่มขึ้นมานั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที ซึ่งจะใช้เวลาราว 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ในเดือนมิถุนายนช่วงวันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไปจะมีฝนเพิ่มแต่ในช่วงกลางเดือนต่อถึงปลายเดือนอาจจะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นได้” นายเมธีฯ แจง
ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ฝนมีปริมาณมาเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนสิงหาคมมีโอกาสฝนจะตกชุกมากขึ้น โดยที่ในเดือนกรกฎาคมปริมาณฝนจะมีค่าเท่ากับค่าปกติ แต่โดยรวมฝนก็ยังน้อย โดยที่ฝนจะไปตกมากในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำยังคงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และหากนำเส้นกราฟของร่องฝนมาพิจารณาประกอบจะพบว่าข้อมูลจะสนับสนุนว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเดือนกรกฎาคมฝนจะน้อย พอเข้ากลางเดือนกรกฎาคมไปแล้วฝนก็จะกลับมาชุกอีกครั้ง

เตือนฝนตกหนักดอยอินทนนท์ (3)

นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับการคาดหมายปริมาณฝนเปรียบเทียบกับค่าปกติและจำนวนวัน พื้นที่ภาคเหนือในเดือนมิถุนายนซึ่งจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ ปริมาณฝนอยู่ระหว่าง 120-160 มิลลิเมตร โดยฝนจะตกราว 16-19 วัน ในเดือนกรกฎาคมปริมาณฝนจะใกล้เดียงกับค่าปกติ โดยจะมีปริมาณฝนอยู่ระหว่าง 160-200 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตก 17-20 วัน ส่วนเดือนสิงหาคมปริมาณฝนยังใกล้เคียงกับค่าปกติ คาดว่าจะมีปริมาณฝนอยู่ระหว่าง 200-250 มิลลิเมตร และจำนวนวันที่ฝนจะตกคาดว่าอยู่ระหว่าง 19-22 วัน

ส่วนการคาดการณ์ลักษณะอากาศในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ช่วงต้นและกลางเดือน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดช่วง โดยจะมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นระยะๆ ประกอบกับจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางช่วง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกและต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศจีนตอนใต้ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง ในเดือนนี้คาดว่าปริมาณฝนส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ
สำหรับข้อควรระวังในเดือนมิถุนายนนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและอาจเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งในช่วงดังกล่าวมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พักปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง เป็นผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น