สกู๊ปพิเศษ ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง มส.

B1
การทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ราบนับว่ายากยิ่งแล้ว แต่บนพื้นที่สูงกลับยากยิ่งกว่าและศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พิสูจน์แล้วว่าชุมชนบนพื้นที่สูงนั้น ถ้าทำการเกษตรอย่างถูกวิธี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่า อย่างผาสุกและยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ คณะทำงานส่วนพระองค์ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ให้กรมส่งเสริมการเกษตรใช้พื้นที่บริเวณศูนย์โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านห้วยมะเขือส้ม อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวนประมาณ 100 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานย่อยกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง ดำเนินงานด้านการขยายผลของโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้
ดังนั้นในปี พ.ศ.2536 กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจัดสรรงบประมาณและบุคลากรจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงห้วยมะเขือส้ม ต่อมาในปี 2546 เมื่อมีการปรับโครงสร้างระบบราชการ จึงยกสถานะศูนย์ฯ ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

สภาพภูมิศาสตร์จังหวัดแม่ฮ่องสอน
จังหวัดแม่ฮ่องสอนประกอบด้วย 7 อำเภอ 45 ตำบล 415 หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมพม่าเป็นแนวยาวประมาณ 480 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ 7,925,785 ไร่หรือ 12,681,259 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 90.5 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 9.5 เป็นที่ราบหุบเขา สภาพป่าโดยทั่วไปค่อนข้างสมบูรณ์ ชนิดป่าเป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนและป่าไผ่
จากการแปลภาพจากดาวเทียม (ปี 2541) จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเนื้อที่ป่าอยู่ 8,764.44 ตารางกิโลเมตร (5,479,650 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 69.14 ของพื้นที่จังหวัด

พื้นที่ ประชากรเป้าหมายและภารกิจในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์ปฏิบัติการขึ้นกับส่วนกลางคือกรมส่งเสริมการเกษตร ทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาเชิงวิชาการกับกลุ่มเกษตรเป้าหมายในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยเน้นหนักไปในบทบาทของการพัฒนาบนพื้นที่สูง ซึ่งมีพื้นที่และประชากรเป้าหมายอยู่ 2 ลักษณะได้แก่
1. พื้นที่และประชากรในภาพรวมตามแผนแม่บทการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งมีถิ่นฐานและการตั้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่สูง จากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 500 เมตร ประชากรเหล่านี้ประกอบด้วย 9 กลุ่มชาติพันธุ์ ในเขตพื้นที่ 7 อำเภอ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่อำเภอเมือง ปาย ปางมะผ้า ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียงและอำเภอสบเมย จำนวน 572 หมู่บ้าน 23,506 ครัวเรือน ประชากร 127,503 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของจำนวนประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีลักษณะการดำเนินงานเชิงวิชาการร่วมกับหน่วยงานหลักในพื้นที่ได้แก่ คณะทำงานบูรณาการในระดับจังหวัด เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอ
2.พื้นที่เน้นหนัก ได้แก่ พื้นที่ในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือ
– พื้นที่ขยายผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงในเขตพื้นที่อำเภอสบเมยจำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านแม่ตอละและบ้านแม่ลามาหลวง ประชากร 945 คน/483 ครัวเรือน มีพื้นที่การการเกษตร 1,097 ไร่ โดยมีการดำเนินการร่วมกันมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) ในลักษณะของคณะทำงานและศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงเป็นหน่วยงานทำงานในระดับปฏิบัติควบคู่งานด้านวิชาการ
– พื้นที่ขยายผลในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่สะงา อำเภอเมืองและลุ่มน้ำแม่สะมาด-ห้วยหมากลาง ซึ่งเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอขุนยวม ลักษณะการดำเนินงานในโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินทั้ง 2 ลุ่มน้ำ ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงเป็นหน่วยงานคณะทำงานหลักในการประสานงานในระดับพื้นที่ตามการมอบหมายของกรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
– พื้นที่ของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ (เรือนประทับแรมปางตอง) ซึ่งเป็นศูนย์บริการและพัฒนาบนพื้นที่สูง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 บนพื้นที่ประมาณ 5,400 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงได้รับการมอบหมายจากสำนักราชเลขาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการบริหารจัดการศูนย์บริการและพัฒนาพื้นที่สูงปางตองตามพระราชดำริ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดระบบการสาธิต ทดสอบ ผลิตปัจจัยการผลิตที่จำเป็นภายใต้กรอบการทำงานจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ในแขนงวิชาต่างๆให้เป็นแหล่งฝึกอบรมดูงานและให้การสนับสนุนเกษตรในการขยายผลโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
– พื้นที่โครงการธนาคารอาหารชุมชนบ้านนาป่าแปก อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ดำเนินการด้านส่งเสริมการเกษตรประมาณ 500 ไร่ ชุมชน 153 หลังคาเรือน
– พื้นที่ในโครงการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
– โครงการในพื้นที่เป้าหมายของแผนพัฒนาจังหวัด เช่น พื้นที่ศูนย์อพยพ พื้นที่หมู่บ้านยามชายแดน เป็นต้น

ผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมการเกษตร
ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ใช้กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เพื่อนำไปขยายผลโดยผ่านฐานการเรียนรู้ แปลงสาธิตและการผลิตปัจจัยการผลิต ได้แก่
1.ฐานการเรียนรู้การอนุรักษ์และฟื้นฟูกล้วยไม้ท้องถิ่น จำนวน 1 ฐาน เพื่อใช้ในการถ่ายทอดความรู้ด้านการรวบรวมพันธุ์ การผลิตและอนุบาลลูกกล้วยไม้ การนำกล้วยไม้กลับคืนสู่ธรรมชาติและการผลิตเชิงการค้า
2.ฐานการเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุ์เฟิร์น จำนวน 1 ฐาน เพื่อใช้ในการถ่ายทอดความรู้ด้านการรวบรวมพันธุ์ การผลิต การขยายพันธุ์และการผลิตเชิงการค้า
3.แปลงสาธิตการปลูกพืชบนพื้นที่สูง (ไม้ผลไม้ยืนต้น) ได้แก่ ชาจีน, กาแฟ, ท้อ, อโวกาโด, กาแฟ,ไผ่, กล้วยน้ำหว้า, และศุภโชค
4.แปลงสาธิตการปลูกพืชผักและสมุนไพร ได้แก่ พืชผักเมืองหนาว, เห็ด, สมุนไพร
5.จุดสาธิตการผลิตต้นพันธุ์พืชบนพื้นที่สูง ได้แก่ พีช(ท้อ), อโวกาโด, มะม่วง, ไผ่, ไม้ดอกไม้ประดับ, พลัม, พลับและไม้ยืนต้นที่มีศักยภาพ(ลูกชิด,เมเปิล, จำปีป่า) รวม 15,000-20,000 ต้น/ปี เพื่อบริการและสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร
พืชที่มีศักยภาพในพื้นที่บนที่สูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นได้แก่- พืชผักเขตหนาว เห็ดหอม เห็ดนางรมดอย พริกกระเหรี่ยง และในส่วนของไม้ผลไม้ยืนต้นได้แก่ อโวคาโด (พันธุ์ Hass) กาแฟอราบิก้า ชาจีน ไผ่หวาน กล้วยน้ำว้า หมาก ลูกพีช นอกจากนี้แล้วยังมีไม้ดอกไม้ประดับ กุหลาบกล้วยไม้ เฟิร์นและไม้ประดับถุง
ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น นอกจากดำเนินงานในลักษณะให้บริการด้านการฝึกอบรมทางวิชาการ มุ่งเน้นการเป็นศูนย์ฝึกอบรมบนพื้นที่สูงของกรมส่งเสริมการเกษตรและในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ยังดำเนินงานในลักษณะการทำงานขยายผล ภายใต้โครงการพระราชดำริเป็นหลัก ในลักษณะของการต่อยอดหรือสร้างพื้นที่หมู่บ้านนำร่องเชิงวิชาการและการประยุกต์เทคโนโลยี เช่น การสร้างฐานเรียนรู้ การสร้างหมู่บ้านขยายผลนำร่อง เพื่อให้ตำบล อำเภอและจังหวัดนำไปเป็นรูปแบบดำเนินการในพื้นที่อื่นๆต่อไป ทั้งนี้โดยใช้ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ เป็นแกนกลางในการศึกษาดูงาน ฝึกปฏิบัติและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ขยายผล รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น