ระวัง!!! พื้นที่เสี่ยงภัย 11 แห่ง 919 หมู่บ้านเตรียมรับมือ

IMG_0003

ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2559 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก โดยมีนายอำเภอหรือผู้แทนทั้ง 25 อำเภอ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมากกว่า 60 หน่วยงาน ร่วมประชุม

วาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการแจ้งที่ประชุมทราบถึงข้อสั่งการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ข้อสั่งการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2559 และคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2559 พร้อมกันนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ได้รายงานการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ทั้งการเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ บุคลากรแจ้งเตือนภัย หรือ มิสเตอร์เตือนภัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ มณฑลทหารบกที่ 33 แขวงทางหลวงเชียงใหม่ แขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ โดยภาพรวมทุกหน่วยงานมีความพร้อมในการรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม

IMG_0011พร้อมกันนี้ นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ ปภ.เชียงใหม่ ได้สรุปพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและดินถล่ม ซึ่งมีในทุกพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ มีมากถึง 178 ตำบล 919 หมู่บ้าน จากพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ 25 อำเภอ 204 ตำบล 2,066 หมู่บ้าน โดยสรุปพื้นที่เสี่ยงภัยสำคัญทั้งสิ้น 12 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มน้ำฝางจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ ต.ศรีดงเย็น ต.ปงตำ อ.โชยปราการ เสี่ยงจากน้ำฝางล้นตลิ่ง ต.แม่งอน ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง เสี่ยงต่อเหตุดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ต.แม่สาว และ ต.แม่นาวาง อ.แม่อาย เสี่ยงจากเหตุน้ำฝางล้นตลิ่งเช่นกัน
“แห่งที่ 4 คือพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ส่วนที่ 1 ต.อินทขิล อ.แม่แตง เสี่ยงจากเหตุน้ำปิงล้นตลิ่ง แห่งที่ 5 ลุ่มน้ำแตง ต.ป่าแป๋ ต.กื๊ดช้าง อ.แม่แตง เป็นพื้นที่เสี่ยงจากเหตุดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก

แห่งที่ 6 ลุ่มน้ำแม่ริม มี ต.แม่สา ต.แม่ริม อ.แม่ริม เสี่ยงจากน้ำแม่สาเอ่อล้นตลิ่ง แห่งที่ 7 ลุ่มน้ำปิง ส่วนที่ 2 ลำห้วยตามแนวดอยสุเทพ มีพื้นที่ ต.สุเทพ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ และ ต.บ้านแหวน อ.หางดง เสี่ยงจากน้ำล้นตลิ่ง น้ำหลากเข้าท่วมชุมชน แห่งที่ 8 ลุ่มน้ำปง พื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ต.ยางเนิ้ง ต.ชมพู อ.สารภี เสี่ยงจากเหตุน้ำปิงล้นตลิ่ง แห่งที่ 9 ลุ่มน้ำกวง พื้นที่ ต.แช่ช้าง ต.แม่ปูคา ต.ร้องวัวแดง อ.สันกำแพง ต.เชิงดอย และ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด เสี่ยงจากเหตุน้ำล้นตลิ่ง แห่งที่ 10 ลุ่มน้ำแม่ขาน พื้นที่เสี่ยงตลอดทั้งแนวลำน้ำใน อ.แม่วาง อ.สันป่าตอง และ อ.ดอยหล่อ เสี่ยงจากเหตุน้ำลันตลิ่งและท่วมขังในจุดบรรจบกับแม่น้ำปิง แห่งที่ 11 ลุ่มน้ำแม่กลาง พื้นที่ ต.สบเตี๊ยะ และ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง เสี่ยงจากเหตุน้ำล้นตลิ่ง และแห่งที่ 12 ลุ่มน้ำแม่แจ่มตลอดทั้งแนวลำน้ำในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.ฮอด เสี่ยงจากเหตุน้ำหลากในลำน้ำล้นตลิ่ง” นายไพรินทร์ฯ แจง

IMG_0022-1
นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ ปภ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า คำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงนามแต่งตั้งแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.59 ที่ผ่านมา โดยให้มีคณะกรรมการเข้ามาดูแลในแต่ละด้านทั้งสิ้น 16 ชุดพร้อมชุดให้การสนับสนุน โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 3 โซน พร้อมกับมอบหมายหน่วยงานต่างๆ ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย โซนเหนือ ได้แก่ อ.แม่อาย ฝาง ไชยปราการ เชียงดาว เวียงแหง พร้าว และ อ.แม่แตง มอบให้ นายมงคล สุกใส รอง ผวจ.เชียงใหม่ กำกับดูแล โซนกลาง ประกอบด้วย อ.แม่ริม สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง แม่ออน เมืองเชียงใหม่ สารภี หางดง แม่วาง สันป่าตอง และ อ.กัลยานิวัฒนา มอบให้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รอง ผวจ.เชียงใหม่ กำกับดูแล และโซนใต้ ประกอบด้วย อ.ดอยหล่อ จอมทอง ฮอด ดอยเต่า แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย มอบให้ นายกฤษณ์ ธนาวนิช รอง ผวจ.เชียงใหม่ กำกับดูแล

ร่วมแสดงความคิดเห็น