พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม

DSC_0120 เมืองแจ๋ม หรือ แม่แจ่ม เป็นเมืองที่ดำรงความเป็นล้านนาที่รักษาวัฒนธรรม ประเพณีและอารยธรรมไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นประเพณีการเลี้ยงผี การทำเหมืองฝายรวมถึงไปงานบุญสำคัญต่าง ๆ มากมาย วิถีชีวิตของคนแม่แจ่มที่ผูกพันกับธรรมชาติและพิธีกรรม จึงทำให้เมืองแห่งนี้อบอวลไปด้วยเสน่ห์ที่ใครหลายต่างใฝ่ฝันเข้ามาสัมผัส
ด้วยอดีตเมืองแม่แจ่ม มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองแห่งนี้ จนกลายเป็นความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่ยากแก่คนต่างถิ่นจะเข้าใจ ทว่าเมื่อหลายปีก่อนเมืองแม่แจ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคมและวัตถุนิยม จนน่าเป็นห่วงถึงลูกหลานในอนาคตซึ่งอาจจะหลงลืมรากเหง้าความเป็นอยู่ของตนเองไป การฟื้นฟูองค์ความรู้ของชุมชนจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) ภายใต้ “โครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่” DSC_0121 ทั้งนี้สืบเนื่องย้อนหลังจากที่จบงานวิจัยการมีส่วนร่วมในการศึกษาประวัติศาสตร์แม่แจ่ม 100 ปี เมื่อปี พ.ศ.2549 แล้ว ได้มีการกระตุ้นให้ทีมวิจัยพยายามคิดโครงการวิจัยเรื่องใหม่ขึ้นในการต่อยอดเดิม ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ 100 ปีแม่แจ่ม ทำให้ทราบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 เป็นต้นมาได้มีคนจากภายนอกได้เข้ามากว้านซื้อของเก่าไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนแม่แจ่มรวมถึงเครื่องหย้องของงาม ต่างถูกซื้อออกไปเกือบหมด นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามจะอนุรักษ์สิ่งของเครื่องใช้อันเป็นแบบแผนวิถีชีวิตแต่โบร่ำโบราณของคนแม่แจ่มให้ดำรงอยู่ไม่ให้สูญหาย ขณะเดียวกันเมื่อลองหันไปมองรอบ ๆ ข้างก็พบว่าในชุมชนอื่นของเชียงใหม่ ต่างก็มีพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละชุมชน แม่แจ่มก็เป็นสังคมเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน แต่ไม่มีสถานที่ใดเก็บรวบรวมสิ่งของเพื่อบอกเล่าความเป็นแม่แจ่มให้คนปัจจุบันได้พบเห็น
แต่ถ้ามีพิพิธภัณฑ์ มีของเก่าที่นำมาเล่าเรื่องราวดี ๆ ก็น่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาศึกษาสืบทอดวิถีชีวิตตามแนวทางภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงรักในถิ่นเกิดของตนเอง ดังนั้นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม จัดเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของกลุ่มคนแม่แจ่มที่สำนึกในสิ่งที่บรรพบุรุษในอดีตเคยสร้างไว้

DSC_0122แม่ฝอยทอง สมวถา ผู้มีส่วนผลักดันการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม เล่าถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ว่าจะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ของคนแม่แจ่มให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองแจ๋ม ซึ่งปัจจุบันมีอาคารสถานที่พิพิธภัณฑ์แล้ว แต่ยังไม่มีสิ่งของเครื่องใช้จัดแสดง ก็เลยพยายามเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยขอรับบริจาคจากชาวบ้านใกล้เคียงคนละชิ้นสองชิ้น นอกจากนั้นยังได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังสำนักงานเทศบาลตำบลแม่แจ่มให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างตู้ชั้นเก็บของที่ถาวร และยังมีชาวบ้านในชุมชนวัดบุปผารามจัดตั้งคณะกรรมการในการรวบรวมและคัดเลือกสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับบริจาค จัดหมวดหมู่อีกด้วย

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ให้เกียรติเดินทางมาร่วมงานเปิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม กล่าวถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ให้คนเกิดสำนึกรักษ์ท้องถิ่นและเกิดความภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันก็ควรสร้างความเข้มแข็งทั้งจากคนภายนอกและภายในด้วย พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นควรเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตสามารถเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต

DSC_0130“สิ่งของที่จัดแสดงจะต้องอธิบายถึงปรากฏการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับวิถีชีวิตนั้นได้ เช่น วิถีชีวิตของคนแม่แจ่มเกี่ยวข้องกับการเกษตร ดังนั้นสิ่งของที่จัดแสดงจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมล้วน ๆ ตลอดจนสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมความเชื่อ รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมโยงถึงการปฏิสัมพันธ์กับแว่นแคว้น ชุมชนที่อยู่ล้อมรอบด้วย”

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วิถีชีวิตเมืองแจ๋มจึงน่าจะเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลให้ชุมชนอื่น ๆ ได้ริเริ่มจัดทำโครงการดี ๆ เช่นนี้เพื่อคนในชุมชนได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเองต่อไป

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น