รองนายกฯขึ้นเหนือ เปิดงาน Startup Thailand & Digital Thailand สร้างฐานสู่ไทยแลนด์ 4.0

เปิดงาน (2)

เมื่อเวลา 10.00 น.  วันที่ 5 ส.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จังหวัดเชียงใหม่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดงาน และ กล่าวปาฐกถาพิเศษ  “Startup Thailand & Digital Thailan กับการสร้างโอกาสในภูมิภาค” โดยภายในพิธีเปิดมี  ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ นายฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกล่าวรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของการจัดงาน พร้อมทั้งได้มีการฉายวิดีทัศน์การดำเนินงานด้าน Startup Thailand & Digital Thailand ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและการดำเนินงานต่อไปในอนาคต โดยในการจัดงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานหลายพันคน

ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกันจัดงาน  Startup Thailand & Digital Thailand ในระดับภูมิภาค 3 จังหวัด โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ในระหว่างวันที่ 5-7 ส.ค.59 ในหัวข้อ “การขับเคลื่อน Startup & Digital ภูมิภาคเพื่อสร้างฐานสู่ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งการจัดงาน Startup Thailand & Digital Thailand @ Chiang Mai // The Creative Valley “เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์” ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการปลุกกระแสสร้างความรู้ความเข้าใจถึงรูปแบบและจุดเด่นเฉพาะของธุรกิจ Startup และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และบูรณาการหน่วยงานรัฐที่มีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมการขับเคลื่อน Startup Thailand & Digital Thailand ในรูปแบบการสัมมนาและ workshop โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรมพิเศษ นิทรรศการให้ความรู้และภาพรวมของ Startup Thailand & Digital Thailand ในประเทศไทย โดยนำกิจกรรมและการให้คำปรึกษาไปหาประชาชน และกลุ่มเป้าหมายในภูมิภาค อีกทั้งมีการนำเสนอกรณีศึกษาตัวอย่างของกลุ่มผู้ประกอบการ  Startup ที่ประสบความสำเร็จ และใช้กลุ่มตัวแทน  Startup เหล่านี้เป็นผู้ให้แรงบันดาลใจ สื่อสารแนวทางการเริ่มธุรกิจ จนไปถึงให้คำปรึกษากับผู้สนใจอย่างใกล้ชิด

เปิดงาน (4)

ทางด้าน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความเกี่ยวโยงกันเป็นอย่างสูง ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล “ประเทศไทย 4.0” เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “Value – Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ในปัจจุบันเรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนใหม่เป็น “ทำน้อย ได้มาก” ซึ่งทำได้โดยการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติ คือ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า โภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิง นวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย ภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และ 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้น ภาคบริการมากขึ้น

เปิดงาน (3)

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ 1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้นและเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services และ 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง ดังนั้นประเทศไทย 4.0 จึงเป็นการพัฒนา เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่ ด้วยการแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ของประเทศไทยที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพ และ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม ให้เป็นความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน โดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม

เป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่มต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

S__138338375

อย่างไรก็ตามทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startup ” ต่างๆ มากมายใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีอาหาร สุขภาพ การแพทย์ สปา หุ่นยนต์ ด้านการเงิน อุปกรณ์เชื่มต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน เทคโนโลยีการศึกษา อี – มาร์เก็ตเพลส อี – คอมเมิร์ซ เทคโนโลยีการออกแบบ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยีการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ประเทศไทย 4.0 จึงเป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำและ Startup ที่อยู่ปลายน้ำ โดยใช้พลังประชารัฐ ในการขับเคลื่อนผนึกกำลังของทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้ให้การสนับสนุน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน ซึ่งวิสาหกิจเริมต้น ( Startup ) จะเป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนเป็นการสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมดังกล่าว ให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

เปิดงาน (1)

ร่วมแสดงความคิดเห็น