หนุนช็อปโอทอป ไฟเขียวลดหย่อนภาษี

b5 w=9h=7 1
“สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง” ย้ำช้อป OTOP ช่วยชาติลดหย่อนภาษี ต้องซื้อของจากร้านที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น

รายงานข่าวจากสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดของผลิตภัณฑ์ OTOP (One Tumbon One Product) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงรวมกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีประเภทสินค้าจำนวนกว่า 80,000 รายการ และมีส่วนในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก
อย่างไรก็ตามจากปัญหาภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 จึงได้มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้า OTOP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการใช้จ่ายของประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP และกระจายรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง มีรายละเอียดของมาตรการภาษี ดังนี้
หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้า OTOP ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1. ต้องเป็นสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองและลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน
2. เป็นรายจ่ายในการซื้อสินค้า OTOP ให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยใบกำกับภาษีต้องระบุรายการว่าเป็นสินค้า OTOP
ทั้งนี้ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด มาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในภาพรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการใช้จ่ายของประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP และกระจายรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจ ระดับฐานรากที่มีห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ แรงงาน วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. อนุมัติมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในสินค้าโอทอปของประเทศ เพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นของไทย (โอทอป) โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องเป็นสินค้าโอทอปที่ได้รับการรับรอง และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น โดยจะสามารถซื้อสินค้าเพื่อรับสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคมนี้เท่านั้น โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเวลาดังกล่าว 10,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่มากนัก
“สาเหตุที่ทำ เพราะเห็นว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดี แต่เมื่อดูไส้ใน พบว่า ตัวเลขการฟื้นตัวมาจากการลงทุนภาครัฐ แต่กำลังซื้อพบว่า ประชาชนยังกังวลใจ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และกระทรวงการคลังเล็งเห็นถึงความลำบากของคนที่อยู่ต่างจังหวัด จึงอยากให้มีการช่วยเหลือสินค้าชุมชน ซึ่งจะทำในลักษณะคล้ายกับช้อปช่วยชาติ”
สำหรับปัจจุบัน พบว่า มีกลุ่มที่เป็นสินค้าโอทอปทั้งสิ้น 40,699 ราย แบ่งเป็น ชุมชน 25,000 ราย บุคคล 14,800 ราย และเอสเอ็มอี หรือ นิติบุคคล 614 ราย รวมสินค้าทั้งหมด 80,000 รายการ ทั้งเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น