มท.จับเด็ก อบรมเข้ม ต้านยาบ้า

ยาเสพติดเชียงใหม่ขานรับนโยบายมหาดไทย คัดเยาวชนกว่า 200 คน เข้าค่ายฝึกอบรมเข้ม หวังสร้างลุคใหม่ ดันเป็นแกนนำต้านยาเสพติด ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ย้ำ ถ้าเยาวชนที่ภูมิคุ้มกันที่ดียากที่จะตกเป็นทาสยาเสพติด เผยเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงผ่านกรมการปกครองต้องการสร้างแกนนำแนวร่วมช่วยงานปกครอง หวังสูงว่าผู้อบรมทั้ง 2 รุ่นจะไปต่อยอดขยายแนวทางต้านยาเสพติดเพิ่มได้อีกในชุมชนตนเอง

ที่กองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1 นายประจวบ กันธิยะ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดและปิดการฝีกอบรมตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “เยาวชนอาสารักษาดินแดนต้านภัยยาเสพติด” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการจัดการฝึกอบรมเยาวชนตามโครงการนี้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่กำหนดการจัดการฝึกอบรมไว้ทั้งสิ้น 2 รุ่น รุ่นแรกระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.59 และรุ่นที่ 2 ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 8-10 ส.ค.59

นายประจวบ กันธิยะ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของยาเสพติดยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งแพร่เข้าสู่เยาวชนทั้งและนอกสถานศึกษา โดยเป้าหมายเป็นเยาวชนหรือนักเรียน ที่มีความเสี่ยงที่จะถูกชักจูงให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ง่าย แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2559 กำหนดจุดมุ่งหมายของแผนเพื่อลดปริมาณชัดเจน จนไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชน และมีกลไกดำเนินการ 8 ยุทธศาสตร์ โดยในยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กำหนดเป้าหมายสร้างภูมิคุ้นกันให้แก่เด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวชุมชน เพื่อลดผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดรายใหม่ เน้นการเสริมระบบป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด

“การฝึกอบรมครั้งนี้กรมการปกครองได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้ายการป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยจัดทำโครงการฝึกอบรมเยาวชนอาสารักษาดินแดนต้านภัยยาเสพติด (ย.อส.) เพื่อให้ทุกจังหวัดดำเนินการสำรวจ ค้นหา กลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชนนอกสถานศึกษาในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดและควบคุมปัจจัยเสี่ยงมิให้เอื้อต่อเยาวชนนอกสถานศึกษาในการเข้าไปเกี่ยวข้องปัญหายาเสพติด เพื่อแก้ไขพฤติกรรม สร้างระเบียบวินัย ปรับเปลี่ยนบุคลิกใหม่ ให้แก่เยาวชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงนอกสถานศึกษา และเปลี่ยนกลุ่มเสี่ยงให้เป็นพลังในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมและชุมชน รวมทั้งให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีความภาคภูมิใจในตนเอง และสามารถปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมได้” นายประจวบฯ กล่าว

ในการดำเนินงานโครงการฝึกอบรมเยาวชนอาสารักษาดินแดนต้านภัยยาเสพติดในครั้งนี้ เป็นการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากเยาวชนกลุ่มเสี่ยงนอกสถานศึกษาอายุระหว่าง 15-25 ปี จาก 25 อำเภอ อำเภอละประมาณ 5-15 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน ดำเนินการฝึกอบรมจำนวน 2 รุ่นๆ ละ 100 คน โดยรุ่นที่ 1 ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วช่วงระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.59 ที่ผ่านมา และรุ่นที่ 2 ทำการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 8-10 ส.ค.59 นี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นเป็นอย่างดียิ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากนายอำเภอทุกอำเภอทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวังชียงใหม่ สำนักงานสาธารสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 ศูนย์อำนวยการป้องกันปละปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้คาดหวังว่าหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมจะทำให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีจิตสำนึกที่ดีในการบริการสังคม และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ มีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิต

“ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเยาวชนเองที่นับวันปัญหาต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติที่ยังตกเป็นทาสของยาเสพติด แล้วจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในอนาคตแน่นอน ถ้าเราเป็นเยาวชนที่มีภูมิคุ้มกันมีเกราะป้องกันที่ดี ไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเรา ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด รู้จักดำเนินชีวิตแบบพอเพียงแล้ว เราก็จะเป็นเยาวชนที่เข้มแข็ง ห่างไกลจากยาเสพติดได้แน่นอน และจะเป็นกำลังการพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต” ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ แจง

“เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวนี้ กรมการปกครองได้สนับสนุนแผนการสร้างภูมิคุ้นกันและป้องกันยาเสพติดโดยได้จัดทำโครงการเยาวชนอาสารักษาดินแดนต้านภัยยาเสพติดขึ้น เพื่อให้ทุกพื้นที่ดำเนินการสำรวจ ค้นหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงนอกสถานศึกษา ซึ่งอาจจะมีพฤติการณ์การใช้ชีวิตเสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรเยาวชนอาสารักษาดินแดน เพื่อจะได้เป็นแกนนำในกลุ่มเยาวชนในการจะสร้างเครือข่ายสร้างแนวร่วมต้านภัยยาเสพติด ทั้งนี้หลักสูตรการอบรมมุ่งเน้นในการแก้ไขพฤติกรรม การสร้างระเบียบวินัย ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ซึ่งเมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วคาดหวังว่าผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมจะเข้าเป็นแนวร่วมช่วยเหลือฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ในการบริการสังคม บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ และเป็นเยาวชนที่ดีของสังคมและประเทศชาติได้ต่อไป” นายประจวบ กันธิยะ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น