เศรษฐกิจลำพูนขยายตัว เสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี

b.1สำนักงานคลังจังหวัดลำพูน รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดลำพูนเดือนมิถุนายน 2559 บ่งชี้เศรษฐกิจจังหวัดลำพูนขยายตัว ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโปรโมชั่นที่จูงใจผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดลำพูนยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

สำนักงานคลังจังหวัดลำพูน ได้สรุปรายงานเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดลำพูน ของสำนักงานคลังจังหวัดลำพูน ประจำเดือนมิถุนายน 2559 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจจังหวัดในเดือนมิถุนายน 2559 บ่งชี้เศรษฐกิจจังหวัดลำพูนขยายตัวจากเดือนก่อน เห็นได้จากเครื่องชี้ด้านอุปสงค์ ดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ส่วนด้านอุปทานขยายตัวจากภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดลำพูนยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

เศรษฐกิจด้านอุปทาน (การผลิต) พบว่าขยายตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 16.8 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรม ส่วนดัชนีผลผลิตภาคบริการ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากยอดขายสินค้าทั้งปลีกและส่งที่เพิ่มขึ้นตามการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ -48.9 เนื่องจากเริ่มหมดช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ (การใช้จ่าย) กลับมาขยายตัวอีกครั้ง เป็นผลมาจากดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.8 พิจารณาจากรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้น จากส่วนราชการในจังหวัดมีประจำรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโปรโมชั่นที่จูงใจผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายสินค้าทั้งปลีกและส่งที่เพิ่มขึ้น และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 2.7 พิจารณาได้จากจำนวนรถยนต์พาณิชย์ที่จดทะเบียนใหม่

ด้านรายได้เกษตรกรในจังหวัด หดตัวร้อยละ -36.4 เนื่องจากเริ่มหมดช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ด้านการเงิน พบว่าสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินมีการขยายตัวของเงินสูงกว่าสินเชื่อ พิจารณาจากปริมาณเงินฝากรวมขยายตัวร้อยละ 7.5 เป็นผลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีสลากออมทรัพย์ทวีสิน ในขณะที่ด้านปริมาณสินเชื่อรวม ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากความต้องการสินเชื่อของเกษตรกร จากโครงการ 1 สินเชื่อ 1 ตำบล SMEs

เสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจังหวัดเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.5 และ 4.2 ตามลำดับ สาเหตุสำคัญมาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ในขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ -0.6 สำหรับอัตราการจ้างงาน หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -2.9 ด้านการคลังในเดือนมิถุนายน 2559 พบว่า ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนรวม 695.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ จำนวน 505.8 ล้านบาท

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ มีจำนวนทั้งสิ้น 226.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.1 สำหรับดุลเงินงบประมาณ ขาดดุลจำนวน -598.8 ล้านบาท พิจารณาจากผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรวมสูงกว่ารายได้นำส่งคลัง สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจในจังหวัด

ร่วมแสดงความคิดเห็น