“ก่องข้าว” ของชาวล้านนา

DSC_3351
“บ้านไผ่ปง ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวแจ๊ะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรชาวบ้านก็ยังประกอบอาชีพการสานก่องข้าวจากไม้ไผ่ ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือนกับก่องข้าวจากที่อื่น…”

วัฒนธรรมในการบริโภคข้าวของคนไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ ในยุคสมัยไหนคงไม่อาจกล่าวย้อนได้ สิ่งหนึ่งที่คนโบราณได้กระทำควบคู่กับวัฒนธรรมการบริโภคข้าวก็คือ การหาภาชนะใส่ข้าวเพื่อเก็บข้าวสุกให้คงสภาพความร้อนได้นานก่อนถึงเวลากิน

ภาชนะใส่ข้าวประเภทหนึ่งที่คนไทยนิยมนำมาใส่ข้าวมีชื่อเรียกหลายชื่อตามแต่ภูมิภาค ในภาคอีสานจะเรียกภาชนะบรรจุข้าวเหนียวว่า “กระติ๊บข้าว” ในภาคกลางจะเรียก “กล่องใส่ข้าวเหนียว” ขณะที่ในภาคเหนือดินแดนบ้านเราจะเรียกภาชนะเดียวกันนี้ว่า “ก่องข้าว”

ว่ากันว่ากล่องใส่ข้าวเหนียว ,กระติ๊บข้าว หรือก่องข้าวนั้นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละที่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วกรรมวิธีการทำก็จะคล้ายกันจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดบางส่วน อย่างเช่นกระติ๊บข้าวของอีสานนิยมสานจากไม้ไผ่เป็นสีจากธรรมชาติไม่มีลวดลาย ขณะที่ก่องข้าวของทางภาคเหนือจะนิยมทำจากใบลานสานและทำจากไม้ไผ่ แต่จะแตกต่างกันที่ลวดลายของภาคเหนือจะมีสีสันลวดลายสวยงาม

ที่หมู่บ้านไผ่ปง ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อในการทำก่องข้าวเป็นอย่างมาก กว่าร้อยปีมาแล้วที่ชาวบ้านที่นี่สืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำก่องข้าวเหนียวมาจากบรรพบุรุษ แต่เดิมพวกเขาจะสานเพื่อแลกกับข้าวสารจากหมู่บ้านอื่น ทว่าในปัจจุบันเริ่มมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้วยเงิน

05032008(005)

จากตำนานที่เล่าถึงชุมชนในเมืองแจ้ห่ม มีความน่าสนใจทำให้เราได้ทราบถึงอดีตที่มาของกลุ่มชนนี้ว่า แต่เดิมเมืองแจ้ห่มเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดอยจะเรียกตนเองว่า “ลัวะ” ส่วนอีกกลุ่มจะอาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มเรียกตนเองว่า “แจ๊ะ” ทั้งกลุ่มชาวลัวะและชาวแจ๊ะต่างก็ตั้งชุมชนอยู่ในเขตเมืองแจ้ห่ม ขณะที่ชนพื้นเมืองทั้งสองกลุ่มอยุ่กันอย่างสงบสุขนั้น ก็ถูกพญาหลวงคำแดง ซึ่งเป็นทหารของพญางำเมืองแห่งเมืองภูกามยาวหรือพะเยา ยกทัพมาตีบ้านเมือง พวกลัวะและแจ๊ะที่กลัวตายจึงได้อพยพย้ายหนีไปอยู่รวมกันที่อื่น ซึ่งภาษาเหนือเรียกการรวมกลุ่มกันหลาย ๆ คนเป็นกลุ่มใหญ่ว่า “ข้อน” ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “แจ๊ะข้อน” ส่วนพวกแจ๊ะบางกลุ่มก็หนีไปซ่อน เลยเรียกเป็น “แจ๊ะซ่อน” และเพี้ยนมาเป็น “แจ้ซ้อน” ในปัจจุบัน

ต่อมาบริเวณเมืองที่อยู่เดิมของพวกแจ๊ะเกิดแผ่นดินถล่ม เจ้าเมืองและชาวบ้านก็หนีตายไปหมด ส่วนพวกแจ๊ะที่รักถิ่นฐานเดิมของตนเองรู้ข่าวเมืองถล่มผู้คนหลบหนีออกไปจากเมืองหมดแล้ว จึงอพยพกลับมาตั้งบ้านเรือนใกล้ ๆ กับเมืองเก่า แต่ด้วยความกลัวว่าแผ่นดินจะถล่มขึ้นมาอีก พวกแจ๊ะจึงเดินห่มตัว คือขย่มตัวทำให้ตัวเบาจนกลายเป็นนิสัยต่อมาชาวบ้านจึงเรียกพวกนี้ว่า “แจ๊ะห่ม” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “แจ้ห่ม”

บ้านไผ่ปง ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวแจ๊ะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรชาวบ้านก็ยังประกอบอาชีพการสานก่องข้าวจากไม้ไผ่ ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือนกับก่องข้าวจากที่อื่นก็คือ หลังจากที่นำไม้ไผ่ซางที่จักตอกแช่น้ำเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มต้นจากการสานเส้นใหญ่ขึ้นมาก่อน โดยจะสานจากซ้ายไปขวาขึ้นเป็นฐานรูปทรงก่อนที่จะค่อย ๆ ฉีกเส้นไผ่ออกเป็นเส้นที่เล็กลงเรื่อย ๆ จนปรากฏเป็นลวดลายต่าง ๆ อาทิ ลายจันเกี้ยว ซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิมที่ทำกันมานานแล้ว และลายจันแปดกลีบที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาลวดลายจากเดิม นอกจากนั้นยังมีลายดอกแก้ว ลายประแจจีน ลายกัมเบ้อและลายกัมบี้ ลายสองตั้ง ลายสามตั้งที่เป็นพื้นฐานในการสาน

การสานก่องข้าวของบ้านไผ่ปงจะนิยมใช้ไผ่ในการสานที่ค่อนข้างหนากว่าการสานอย่างอื่น ซึ่งมีส่วนประกอบด้วยกันสามส่วนคือ ฝาก่อง ตัวก่องข้าวและฐานก่องข้าวที่ทำจากไม้สองแผ่นไขว้กันเป็นรูปกากบาท ผูกติดไว้กับมุมส่วนก้นของก่องข้าวด้วยหวาย ส่วนตัวก่องข้าวตรงกลางจะมีมุมสี่เหลี่ยมขึ้นมาตรงช่วงกลางจะเป็นกระเปาะ ช่วงปากก่องจะกิ่ว ฝาปิดก่องข้าวทำเป็นมุมสี่เหลี่ยมในแต่ละมุมเพื่อให้รับกับส่วนก้นและมีไม้ไผ่ขัดตรงฝาเป็นรูปกากบาท

05032008(004)ลวดลายของก่องข้าวบ้านไผ่ปงนั้นจะนิยมย้อมสีดำซึ่งได้จากเปลือกของต้นหยีและต้นคราม แต่ปัจจุบันพื้ชทั้งสองชนิดนี้หายากขึ้น ชาวบ้านจึงใช้สีดำเคมีมาย้อมเพาะส่วนที่เป็นลวดลาย แต่บางบ้านก็นิยมทำเป็นสีธรรมชาติของไผ่ล้วน ๆ การสานก่องข้าวแบบนี้ มีกรรมวิธีในการสานอย่างสองชั้นด้วยไผ่เส้นเดียวกันคือ ทั้งชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สองจะสานรวมกันเป็นภาชนะเดียวไปเลย ก็เพราะว่าเดิมทุกบ้านจะหุงข้าวในตอนเช้าแล้วกินไปจนถึงเที่ยงวัน ดังนั้นเพื่อให้ข้าวสุกมีความอุ่นอยู่ได้นาน ชาวบ้านจึงมีการสานก่องข้าวให้เป็นสองชั้น เพื่ออากาศภายในจะได้ไม่ถ่ายเทมากนัก เป็นฉนวนไม่ให้อากาศที่ร้อนผ่านออกมาหมด ทำให้ข้าวที่อยู่ในก่องข้าวนั้นอุ่นอยู่ได้นาน นอกจากนั้นยังมีความทนทานและการใช้งานอยู่ได้นานอีกด้วย การสานก่องข้าวของชาวบ้านไผ่ปงนี้จะใช้วิธีการตอกแบบตอกปื้น คือการตอกตามแนวไม้ไผ่แบบขนานไปกับหลังผิวไผ่ซึ่งนิยมใช้ผิวไม้ไผ่ในการสาน

ปัจจุบันการทำก่องข้าวของชาวบ้านไผ่ปงยังคงทำกันอยู่และไปมีการพัฒนาการสานจากก่องข้าวมาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น เช่น เสื่อ กระเป๋า ของเล่นเด็ก เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านบอกว่ามีการพัฒนาไปตามยุคสมัยแต่ยังคงการใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก

ก่องข้าวบ้านไผ่ปงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่คนเมืองทั่วไปที่รับประทานข้าวเหนียว โดยเฉพาะเอกลักษณ์อันสวยงามของลวดลายที่ไม่เหมือนใครยังคงทำให้ก่องข้าวที่นี่ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น