ย้อนตำนานที่ประสูติพระนางจามเทวี ชมโบราณสถาน “วัดเกาะกลาง”

เนินเศรษฐีอินตา (1)_resize

“จังหวัดลำพูน” หรือในอดีต “นครหริภุญไชย” เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่มีอายุราวๆ 1,343 ปี โดยมี “พระนางจามเทวี” เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชย สืบราชวงศ์กษัตริย์ต่อมาหลายพระองค์ ในความเก่าแก่โบราณของลำพูนนั้น ทำให้ยังคงหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย โดยที่เป็นกลุ่ม ก้อนอย่างเห็นได้ชัดก็ได้แก่ “กลุ่มโบราณสถานวัดเกาะกลาง” อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งในกลุ่มโบราณสถานนี้ยังเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ “ประสูติ” ของพระนาง จามเทวีอีกด้วย

โบราณสถาน “วัดเกาะกลาง” เป็นโบราณสถานที่เป็นกลุ่มก้อน และสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ใน บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน
อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางตะวันออกประมาณ 500 เมตร ประวัติความเป็นมาของ “วัดเกาะกลาง” นั้น มีเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะสืบต่อ
กันมาว่า สร้างโดย “เศรษฐีอินตา” ที่เป็นชาวมอญ(เม็ง) โดยระบุว่าเป็นพระบิดาที่แท้จริงของพระนางจามเทวี ก่อนที่จะถูกพญานกคาบไปตกอยู่ในสระบัว
แล้วพระฤาษีวาสุเทพเก็บมาเลี้ยงดู จากนั้นได้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้ในที่สุด ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐีอินตาและพระนางจามเทวี
ในส่วนนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ นอกเสียจากว่าชุมชนแห่งนี้ (บ้านบ่อคาว , บ้านหนองดู่) จำนวนประมาณ 200 กว่าครัวเรือน มีเชื้อสายมอญ และใช้ภาษามอญ ในชีวิตประจำวัน จึงทำให้หลายๆคนเชื่อกันว่า นี่คือ ทายาทหริภุญไชยกลุ่มสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดลำพูน

 "เสาหงส์" สัญลักษณ์ของชุมชนมอญ เครื่องรำลึกและสักการะถึงเมืองหลวงของมอญในพม่า คือ เมืองหงสาวดี
“เสาหงส์” สัญลักษณ์ของชุมชนมอญ เครื่องรำลึกและสักการะถึงเมืองหลวงของมอญในพม่า คือ เมืองหงสาวดี

อย่างไรก็ดี วัดเกาะกลาง ได้ถูกทิ้งร้างไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2517 พระมหาสงวน ปัญญา จากวัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ พระมหาดวงจันทร์ เขียวพันธ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ได้ร่วมมือกับพระอุดม บุญช่วย วัดหนองดู่ ซึ่งทั้งหมดเป็นภิกษุชาวมอญ ทำการปฏิสังขรณ์และพัฒนาเป็นสถานที่ บำเพ็ญธรรม กระทั่งปี พ.ศ. 2522 กรมการศาสนาได้ประกาศให้วัดร้างเกาะกลางเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ โดยมี พระอุดม บุญช่วย เป็นเจ้าอาวาสองค์ แรก และในราวปี พ.ศ. 2543 ได้มีการสร้างพระวิหารขนาดใหญ่ขึ้นมา โดยมี “เสาหงส์” ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร อันเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนมอญ ที่ใช้หงส์เป็น เครื่องรำลึกและสักการะถึงเมืองหลวงของมอญในพม่า คือ เมืองหงสาวดี

สำหรับที่มาของชื่อ วัดเกาะกลาง นั้น พระอุดม บุญช่วย กล่าวว่า เนื่องมาจากแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะคล้ายเกาะ อยู่ในหนองน้ำอันกว้างใหญ่ แม้
ปัจจุบันแทบไม่เห็นร่องรอยดังกล่าวอีกเลย เนื่องจากมีการถมคูคลอง ทำถนนขึ้นหลายด้าน อย่างไรก็ตามทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ของวัด ยังพอ
เห็นเค้าเดิมของที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดทั้งปี

กลุ่มโบราณสถานใน วัดเกาะกลาง แห่งนี้ มีอยู่มากมาย ได้แก่ วิหารหลวง , พระอุโบสถ , เจดีย์ประธาน , เจดีย์ทรงมณฑป , มณฑปกลางน้ำ และเนินเศรษฐีอินตา (ฐานหอพระมณเฑียรธรรม 8 เหลี่ยม)

วิหารหลวง
วิหารหลวง”

“วิหารหลวง” จากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2548 พบหลักฐานการปฏิสังขรณ์อย่างน้อย 5 ครั้ง ครั้งแรกน่าจะเป็นการสร้างขึ้นพร้อมองค์เจดีย์ใน ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ใช้งานของฐานชุกชี พร้อมกับสร้างอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบฐานชุกชีไว้ท้ายอาคาร วิหารถูกขยาย ให้ใหญ่ขึ้น และปรับเปลี่ยนแผนผังให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จด้านหน้า 2 ชั้น ด้านหลัง 1 ชั้น มีการขยายพื้นที่ใช้งานด้านหน้าวิหารออกไปอีก จนทำให้ วิหารมีความยาวถึง 33 เมตร การปฏิสังขรณ์ในครั้งสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเข้ามาฟื้นฟูบูรณะวัดเกาะกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16

“พระอุโบสถ” เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตัวอุโบสถตั้งอยู่บนฐานเขียงขนาดเล็กซ้อนเหลื่อมกัน รองรับส่วน
ท้องไม้ที่ยืดสูงขึ้นจนต่อเนื่องกับราวระเบียง มีร่องรอยเสาปูนปั่นประดับ อยู่ที่มุมฐานแต่ละด้าน กลางฐานเป็นอาคารอุโบสถซึ่งตั้งอยู่บนยกพื้นเตี้ยๆ พื้นที่
ส่วนหลังมีแท่นชุกชีขนาดเล็ก และแท่นสงฆ์ สันนิษฐานว่าผนังอุโบสถน่าจะเป็นผนังไม้ทั้ง 3 ด้าน ยกเว้นด้านตะวันออก ซึ่งอยู่ด้านหลังพระประธานเป็น
ผนังก่ออิฐ รอบอุโบสถในตำแหน่งทิศทั้ง 8 พบร่องรอยหินเสมาปักอยู่ทิศละ 1-2 ต้น แสดงว่าอุโบสถหลังนี้ มีการผูกพัทธสิมาถึง 2 ครั้ง และน่าจะมีความ
เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนนิกายระหว่างพุทธศาสนาลังกาวงศ์เก่า (รามัญวงศ์) และพุทธศาสนาลังกาวงศ์ใหม่ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20

เจดีย์ประธาน
เจดีย์ประธาน

“เจดีย์ประธาน” เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมซ้อนเหลื่อมกัน รองรับส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจระนำ ทั้ง 4 ด้าน บริเวณฐานหน้ากระดานในผังสี่เหลี่ยมเหนือเรือนธาตุ พบร่องรอยของฐานเจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 ทิศ ทำให้เชื่อได้ว่ารูปทรงสมบูรณ์ของเจดีย์องค์นี้คือ เจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอด ซึ่งน่าจะสร้าง ขึ้นก่อนการผนวกอาณาจักรหริภุญไชยของพญามังราย หรือน่าจะมีอายุอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19

เจดีย์ทรงมณฑป
เจดีย์ทรงมณฑป

“เจดีย์ทรงมณฑป” เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยมซ้อนเหลื่อมกัน 2 ชั้น รองรับฐานชุดฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ย่อมุมไม้ 24 ขึ้น รอง รับเรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำ มองทะลุถึงกันทั้ง 4 ด้าน บริเวณกลางหลังคาเรือนธาตุพบแนวอิฐก่อโค้งรูปทรงครึ่งวงกลม สันนิษฐานว่าเป็นส่วนฐานองค์ระฆัง กลมของเจดีย์ รูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์องค์นี้มีความคล้ายคลึงกับมณฑปประดิษฐานพระแก่นจันทร์แดง ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระแก่นจันทร์ แดง วัดมหาโพธาราม เมืองเชียงใหม่

มณฑปกลางน้ำ (2)_resize

มณฑปกลางน้ำ
มณฑปกลางน้ำ

“มณฑปกลางน้ำ” เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ลักษณะเป็นฐานเขียงในผังกลม สูงประมาณ 2.3 เมตร รองรับชุดฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ซ้อนเหลื่อม กัน 2 ชั้น เหนือฐานปัทม์ชั้นที่ 1 ด้านทิศเหนือ ตะวันออก และทิศใต้ พบแนวผนังซุ้มมีร่องรอยว่าเคยประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน ส่วนด้าน ตะวันตกมีบันได ที่ต่อเนื่องมาจากบันไดทางขึ้นลานประทักษิณ จากการขุดตรวจใต้ฐานเจดีย์ใน พ.ศ. 2548 พบชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา สอดคล้องกับรูปแบบศิลปะที่ปรากฎบนชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นกว่า 2,000 ชิ้น ที่พบจากการขุดแต่งทางโบราณคดีบริเวณเจดีย์องค์นี้ มีรูปแบบคล้าย คลึงกับประติมากรรมปูนปั้นที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) เชียงใหม่ ที่พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่กระทำอัฐฐมสังคายนาพระ ไตรปิฏก ในปลายพุทธศตวรรษที่ 20 จึงกำหนดอายุของเจดีย์องค์นี้ได้ว่า มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 โดย มณฑปกลางน้ำนี้ ถือเป็นมณฑปกลางน้ำที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียอาคเนย์

เนินเศรษฐีอินตา
เนินเศรษฐีอินตา

“เนินเศรษฐีอินตา” ตามตำนานท้องถิ่นเชิงมุขปาฐะเชื่อว่า บริเวณนี้คือบ้านของเศรษฐีอินตา บิดาของพระนางจามเทวี โบราณสถานแห่งนี้ แบ่งพื้นที่ใช้
งานออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก มีแนวกำแพงล้อมรอบ ประกอบด้วยบ่อน้ำ 2 บ่อ ห้องน้ำ ห้องครัว และอาคารจำนวน 5 หลัง บางอาคารมีร่องรอยของแท่นประดิษฐานรูปเคารพ และส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของส่วนที่ 1 มีแนวกำแพงล้อมรอบเช่นเดียวกัน อาคารสำคัญใน ส่วนนี้ประกอบด้วย ฐานอาคารก่ออิฐในผังแปดเหลี่ยม มีบันไดเล็กๆขึ้นสู่โบราณสถาน รอบทิศทั้ง 4 มีแท่นบูชา ตั้งอยู่ใกล้แนวกำแพงด้านใน มีท่อดินเผาตั้ง ขึ้นเป็นระยะๆโดยรอบ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเสาปักตุง จากรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมและแผนผังของโบราณสถาน สันนิษฐานว่าโบราณสถานกลุ่มนี้ น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยเป็นเขตสังฆาวาสของกลุ่มโบราณสถานวัดเกาะกลาง และน่าจะเป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุองค์สำคัญของเมืองลำพูน และยังเชื่อกันว่าที่นี่ยังเป็นที่ “ประสูติ” ของพระนางจามเทวีอีกด้วย

งานนี้สนใจมาเที่ยวชมก็แวะมากันได้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
www.banruan.org โทรศัพท์ 053-593222

ร่วมแสดงความคิดเห็น