คลังชม.เผย ท่องเที่ยวนำทัพปลุกศ.กเหนือ

b6 w=9h=6 4
คลังจังหวัดเชียงใหม่ เผยเศรษฐกิจการคลังเชียงใหม่ในครึ่งปีแรก ภาคการท่องเที่ยวยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ แต่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนที่กำลังชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยดลดลง รวมถึงด้านอื่นๆก็ชะลอตัวลงเช่นกัน ยกเว้นภาคการเงินมีปริมาณเงินฝากรวมขยายตัว เนื่องจากมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้ผลตอบแทนสูง
นางสัญญา ไชยเชียงของ คลังจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวสรุปภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ครึ่งปีแรก 2559 ในวาระการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
นางสัญญา ไชยเชียงของ คลังจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจการคลังโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวในอัตราชะลอลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2558 พบว่า ด้านอุปทาน ขยายตัว แต่ชะลอลงจากภาคบริการ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอัตราชะลอลง ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว แต่ชะลอลงเช่นกัน โดยเป็นโรงงานประเภทสินค้าเกษตรแปรรูป ทั้งนี้ภายในภาคเกษตรกรรม หดตัว จากสถานการณ์ภัยแล้ง ส่วนด้านอุปสงค์ขยายตัว จากด้านรายจ่ายภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนและงบรายจ่ายประจำ ด้านการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว ตามจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ รวมทั้งมีการใช้จ่ายในหมวดการค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัว ตามพื้นที่อนุญาตก่อสร้างและยอดขายวัสดุก่อสร้างทั้งการค้าส่งและค้าปลีก ภาคการเงิน ปริมาณเงินฝากรวมและปริมาณสินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก เป็นผลมาจากระดับราคาของผัก ผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม อาหารที่สูงขึ้น ทั้งนี้รายได้เกษตรกร หดตัว ส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง
นางสัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการคลังของจังหวัดของจังหวัดเชียงใหม่มีดังนี้ ภาคการท่องเที่ยว ยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ แต่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนที่กำลังชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอัตราชะลอลง ทำให้ดัชนีชี้วัด อาทิ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงงาน และภัตตราคาร จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน และยอดขายธุรกิจค้าส่งปลีก อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มวันหยุดยาวในเทศกาลต่างๆ ประกอบกับจังหวัดได้จัดกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
ด้านภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว แต่ชะลอตัวลง สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญ คือ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม และจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนจำนวนทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรม หดตัว โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่ลดลงเนื่องจากขาดแคลนผลผลิตซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง
สำหรับภาคเกษตร เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากสภาวะฝนทิ้งช่วงในทุกพื้นที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืช โดยดัชนีปริมาณผลผลิตการเกษตรหดตัว ตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงของข้าว พริก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง และกระเทียม ส่วนปริมาณผลผลิตของลำไยและมะม่วงเพิ่มขึ้น จากการปลูกนอกฤดูกาล สำหรับราคาเกษตรทุกชนิดปรับตัวเอง ส่วนรายได้เกษตรกร ยังหดตัวที่ร้อยละ -49.3 ซึ่งภาครัฐยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนที่เศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.2 จากการดำเนินงานตามมาตรเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก (งบลงทุน : โครงการละ 1 ล้านบาท) โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 11.5 จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถรุ่นใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบการมีโฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติสนับสนุนให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ในชีวิตประจำวันก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
แต่ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว จากภาพรวมเครื่องชี้การลงทุนสำคัญทั้งพื้นที่อนุญาตก่อสร้างรวมและยอดขายวัสดุก่อสร้างทั้งการค้าส่งและการค้าปลีก เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนในโครงการใหม่ และถึงแม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้อุปทานส่วนเกินลดลง ส่วนสินเชื่อเพื่อการลงทุนขยายตัวเล็กน้อย ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับครึ่งปีแรกนี้จำนวนทุนจดทะเบียนธุรกิจใหม่ขยายตัว เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ
ในส่วนของภาคการเงิน พบว่า ปริมาณเงินฝากรวม จำนวน 300,164 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.6 เป็นผลเพิ่มขึ้น สำหรับปริมาณสินเชื่อรวมจำนวน 266,123 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านประชารัฐ ส่วนสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ หดตัว
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กลับมาเป็นบวกเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากราคาของผัก ผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม อาหารบริโภคที่สูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งนี้รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวส่วนด้านอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง
สุดท้ายภาคการคลังผลการเบิกจ่ายเงินในงบประมาณรวม มีจำนวนทั้งสิ้น 27,690 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.8 โดยเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนจำนวน 6,869 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 45.3 และการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจำนวน 20,821 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 2.7 จากสาตราการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่าย เงินงบประมานมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ มีจำนวนทั้งสิ้น 9,544 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.8 โดยส่วนราชการอื่นๆ ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.3 , 15.8 , 10.0 ส่วนด่านศุลกากร หดตัว ร้อยละ -28.1 เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้น้อยลง เพราะสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่ใช้เขตประกอบการค้าเสรีและใช้สิทธิ FTA สำหรับดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -23,486.1 ล้านบาท คลังจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น