ชุบชีวีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

777
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุให้การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน เป็นกิจกรรมในแผนพัฒนาระบบบริการ (Service plan) ให้มีการปฏิบัติในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่าเมื่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มาวัดระดับความดันโลหิตที่โรงพยาบาลก่อนพบแพทย์ จะมีค่าสูงกว่าความเป็นจริงถึงร้อยละ 30 สาเหตุจากความเหนื่อย ความเครียด หรือเกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ส่งผลให้แพทย์ผู้ทำการรักษาให้ยาเกินความจำเป็น ซึ่งการวัดความดันโลหิตเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรักษาและควบคุมการเกิดโรค ภาวะแทรกซ้อน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ การตายจากความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคนี้มักจะไม่มีอาการอะไรบ่งบอก หรือที่เรียกว่า “ฆาตกรเงียบ” และการวัดความดันโลหิตเองที่บ้าน จะช่วยเตือนให้ควบคุมระดับความดันโลหิต ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาโรคความดันโลหิตสูงที่ทั่วโลกใช้
ในปี 2559 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด และสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการวิจัยขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยสร้างทีมงาน “วัดความดันโลหิตที่บ้าน” และสร้าง “ห้องสอนแสดงเบาหวาน” ประจำโรงพยาบาล 84 แห่งทั่วประเทศ มีการดำเนินการดังนี้ 1.จัดคอนเสิร์ตการกุศล ระดมทุนจัดซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน ให้กับสถานพยาบาล 84 แห่งทั่วประเทศ 2.อบรมแพทย์ 1 คน พยาบาล 2 คน (Case manager) จากโรงพยาบาล 77 จังหวัด และโรงพยาบาล 7 แห่งที่มีศูนย์แพทย์ศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างทัศนคติ ให้ความรู้ ทักษะการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง
ทั้งนี้ การสำรวจภาวะสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 5 ปี 2557 พบคนไทยมีอัตราการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด พบมากถึง 14 ล้านคน ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เลือดออกในสมอง สมองขาดเลือด หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว น้ำคั่งในปอด ไตวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ค่าใช้จ่ายจากการมีผู้ดูแล ขาดงาน สูญเสียผลผลิต ความพิการ เกษียณอายุก่อนวัย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากกรมการแพทย์ปี 2557 การรักษาผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นผู้ป่วยนอกมีค่าใช้จ่าย 831 บาท/คน/ปี ผู้ป่วยใน 4,586บาท/คน/ปี ถ้ามีผู้ป่วย 10 ล้านคน ต้องเสียค่าใช้จ่าย 79,263 ล้านบาท/ปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น