กลุ่มแม่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน ภูมิปัญญาจากหุบเขา…ก้าวออกสู่โลกกว้าง

91

วันนี้ขอนำเสนอผลิตภัณฑ์ กลุ่มแม่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน หรือที่รู้จักและเรียกจนติดปากว่า “เย้า” บ้านปางค่า หมู่ 1 ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา พวกเธอจะไม่ปล่อยเวลาว่างให้เปล่าประโยชน์ ด้วยการนั่งเย็บปักถักร้อยลวดลายสีสันบนผืนผ้าเพื่อใช้เป็นอาภรณ์สวมใส่ร่าง กาย โดยไม่ต้องไปซื้อหาอีกทั้งยังเป็นค่านิยมที่ทรงคุณค่าต่อการอนุรักษ์วิถี ชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่าไว้อย่างเหนียวแน่น จากการเย็บปักถักร้อยไว้ใส่เอง กลายมาเป็นงานสร้างเสริมรายได้ให้กับครอบครัวยามว่าง จากสีสันที่แปลกตาและลวดลายที่เกิดจากจินตนาการและภูมิปัญญาที่ได้รับการ ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ นำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์
นางมนธิรา ศรีปะพจน์ ให้ข้อมูลว่าลวดลายที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษจนจดจำได้อย่างแม่นยำ มนธิรา กล่าวถึงการปักลายผ้าในปัจจุบัน ว่า ต้องทำตามออร์เดอร์จากบริษัทที่รับ ซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าปักเผ่าเย้า โดยทางบริษัทจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบและขนาด ส่วนลวดลายต่าง ๆ นั้นเราจะเป็นผู้คิดเอง รูปแบบซึ่งมีเป็นร้อยรูปแบบนั้น ทางบริษัทจะกำหนด ว่าต้องการแบบไหน ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ต้อง เสียเวลาไปนั่งปักโดยที่ไม่รู้จุดหมายปลายทางว่า ผ้าที่ปักเสร็จแล้วจะมีใครมาซื้อหรือจะไปขายที่ไหน

ขนาดของผืนผ้าขนาดกว้าง 14 นิ้ว ยาว 20 นิ้ว ซึ่งเธอบอกว่าถ้ามีเวลาว่างจริง ๆ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หรือหากไม่ว่าง ปักไปเรื่อย ๆ จะใช้เวลา 1 เดือน กับราคาผ้าหนึ่งชิ้น 450 บาท ราคาเมืองไทย แต่หากลูกค้าญี่ปุ่นมาซื้อตกผืนละ 800 บาท ปัจจุบันผ้าปักชาวไทยภูเขาเผ่าเมี้ยน (เย้า) ต.ผาช้างน้อย จะมีตัวแทนมารับซื้อส่งจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก และเริ่มส่งไปที่สิงคโปร์ เพื่อเปิดตลาดใหม่ หากถามว่าราคาผ้าที่สำเร็จแล้วกับค่าแรงคุ้มกันมั้ย ตอบได้เลยไม่คุ้มค่าแรง แต่เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และมีรายได้เสริม

ใครมาเที่ยวหมู่บ้านชนเผ่า จะเห็นแม่บ้านตลอดจนเด็ก ผู้สูงอายุ ทุกหลังคาเรือน จะนั่งปักลายผ้ากัน ซึ่งเป็นการปักใช้เอง และปักขายเป็นบางส่วน การปักลวดลายชุดเมี่ยนนั้นยากมาก ต้องมีความชำนาญจริง ๆ เช่น ทำแถบสีเสร็จแล้วต้องมาติดลาย และติดกระดุม ส่วนรังดุมจะเป็นตัวหนอน ตรงนี้ยากมาก ลายแต่ละลายจะต้องไม่ผิดเพี้ยน คนทำจะต้องใจเย็น และมีความจำดี มีแนวคิดสร้างสรรค์ ลวดลายต่าง ๆ จึงออกมาสดใสสวยงาม

นอกจากลายผ้ารูปแบบต่าง ๆ แล้ว กลุ่มแม่บ้านยังพัฒนาฝีมือด้วยการปักลายผ้าผืนใหญ่สำหรับนำไปตัดเป็นกระโปรง หรือทำเป็นผ้าปูโต๊ะ ขนาดหน้ากว้าง 1 เมตร ยาว 1.50 เมตร ใช้เวลาปักประมาณ 3 เดือนต่อหนึ่งผืน ราคาคนไทยผืนละ 2,500 บาท แต่ถ้าเป็นชาวญี่ปุ่น หรือ สิงคโปร์ ตกผืนละ 4,000 บาท ซึ่งผ้าผืนใหญ่นั้นต้องใช้ความละเอียดมาก เนื่องจากมีลายมาก แต่ละดอกจะต้องไม่ผิดเพี้ยน

การปักลวดลายบนผืนผ้าของเผ่าเย้าจะปักจากด้านหลัง และใช้ประโยชน์ด้านหน้า ซึ่งเป็นชนเผ่าเดียวในประเทศไทยที่ใช้วิธีปักผ้าอย่างนี้ เป็นวิถีชีวิตชนเผ่าที่สืบทอดมายาวนาน การปักลายนั้นจะปักตามเส้นด้ายบนผืนผ้า การเดินไหมห้ามผิดเส้นโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นลายจะไม่ตรงกัน ไม่สวยงาม ซึ่งลายแต่ละลายนั้นมีความหมายในตัวเอง เช่น ลายดอกฝิ่น ซึ่งดอกฝิ่นนั้นเวลาบานมีสีสวยงามมาก จึงถือเป็นลายหลักของเรา นอกนั้นก็จะมีเป็นลายประยุกต์ที่คนรุ่นใหม่เสริมเข้ามาเพื่อให้เกิดความสวยงามยิ่ง ขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น