รุกปั้นเครื่องสำอางไทย ก้าวไกลขึ้นชั้นฮับเอเชีย

b.2

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จับมือ SMEs ต่อยอดงานวิจัย-พัฒนา ปั้นเครื่องสำอางไทยขึ้นชั้นฮับเอเชีย ชิงตลาด 2 แสนล้าน สู้ยี่ห้อดังตะวันตก เผยที่ผ่านมาผลิตได้เพียบทั้งมาสคารา อายไลเนอร์ จากข้าวเหนียวดำ-เครื่องสำอางชาอัสสัม ฯลฯ

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการพัฒนาเครื่องสำอางสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ กับนายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โปรดักส์พลัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย

โดยมี ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์ SMEs เครื่องสำอางไทย มฟล. และ ดร.ธนธรรศ สนธีระ รองประธานคลัสเตอร์เครืองสำอางไทย ร่วมเป็นพยาน ณ อาคาร Education Park มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อ.เมืองเชียงราย

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาสูตรตำรับของ มฟล.แก่ SMEs เครื่องสำอางไทย และให้นักศึกษาสามารถฝึกปฏิบัติการร่วมกับเอกชน รวมทั้งสำนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางของ มฟล.ก็จะใช้ความร่วมมือในการปฏิบัติการทดลอง วิจัยและพัฒนาเครื่องสำอางไทยให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายด้วย

รศ.ดร.วันชัยกล่าวว่า ราว 20 ปีก่อน ธุรกิจที่มีมูลค่ามากถึงปีละกว่า 60,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจอัญมณี และสิ่งทอ แต่ช่วง 10 ปีมานี้ ธุรกิจเครื่องสำอางเริ่มเติบโตจนมีมูลค่าซื้อขายในประเทศราว 70,000-80,000 ล้านบาท จนถึงตอนนี้เพิ่มเป็นมากกว่า 200,000 ล้านบาทแล้ว จึงถือเป็นธุรกิจใหญ่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีก

ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ได้ตั้งสำนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศตั้งแต่ปี 2548 มีการสร้างโรงงานเครื่องสำอางต้นแบบ และใช้เพื่อการเรียนการสอน รวมทั้งทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง จึงแสวงหาความร่วมมือกับ SMEs เพราะถือเป็นรากฐานของประเทศ และสามารถร่วมมือกันได้ เนื่องจากยังไม่ถึงขั้นผลิตครั้งละมากๆ เหมือนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

โดยทาง มฟล.มีการศึกษาวิจัยและองค์ความรู้ ส่วนภาคเอกชนเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้การสนับสนุน ภายใต้งบประมาณเริ่มต้นจาก มฟล.และภาคเอกชน

รศ.ดร.วันชัยกล่าวอีกว่า เป้าหมายคือต้องพัฒนาให้มียี่ห้อเครื่องสำอางที่มีคุณภาพจากประเทศไทย-ทวีปเอเชีย ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เพราะปัจจุบันเครื่องสำอางดังๆ ล้วนผลิตจากประเทศตะวันตก ซึ่งเหมาะกับผิวคนตะวันตกมากกว่า ดังนั้น คนเอเชียก็จำเป็นต้องมีเครื่องสำอางที่เหมาะกับคนเอเชียเช่นกัน ซึ่งความร่วมมือนี้สามารถทำให้ไปถึงจุดนั้นได้ ภายใต้แนวทาง 3 ประสาน คือ มฟล. ภาคเอกชน และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ด้าน ดร.ภาณุพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเครื่องสำอางของประเทศไทย มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนทั้งในด้านมูลค่าการตลาด คุณภาพ และความปลอดภัย จากวิสัยทัศน์ของอธิการบดี มฟล.ที่ตั้งสำนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นเครื่องแรกของประเทศมาได้ 10 กว่าปี ทำให้มีการสั่งสมองค์ความรู้จากงานวิจัย ต่อยอดและพัฒนาด้วยการนำวัตถุดิบที่เป็นพืช สมุนไพร และภูมิปัญญาไทย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ขณะที่ธุรกิจ SMEs ในประเทศต้องการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาตลาดที่เติบโตอย่างมากอย่างดังกล่าว

นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โปรดักส์พลัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานกับ SMEs ต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้กว่า 10 กว่ารายแล้ว และจะจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องสอาง 2016 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ในเร็วๆ นี้ และจะอาศัยความร่วมมือนี้พัฒนาการผลิต-ตลาด

“กรณีของเกาหลีใต้ ธุรกิจเครื่องสำอางเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็เพราะทุกฝ่ายของเขาร่วมกันพัฒนาหมด ดังนั้นประเทศไทยก็ต้องทำ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกจากนี้เราได้เปรียบตรงที่มีองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ทรัพยากร โดยเฉพาะสมุนไพรจากท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างมากมายอยู่แล้ว เมื่อร่วมกันทุกฝ่ายคาดว่าจะเติบโตได้ดีแน่นอน”

อนึ่ง สำนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มฟล.และโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนธุรกิจขนาดเล็กและกลางหรือ SMEs เครื่องสำอางไทย มฟล.ได้วิจัยและผลิตเครื่องสำอางที่มีคุณภาพหลากหลาย เช่น สารประกอบโลหะเชิงซ้อนจากข้าวเหนียวดำที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีการผลิตเป็นมาสคารา อายไลเนอร์ ฯลฯ

สารสกัดเมล็ดเงาะ ที่ให้ความชุ่มชื้นสูง สามารถผลิตเป็นสบู่ ลิปสติก ฯลฯ, เครื่องสำอางต่างๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดชาอัสสัม เพื่อต้านอนุมูลอิสระและต้านความชรา, สารสกัดกจากเปลือกผลกาแฟ สารสกัดเมล็ดเสาวรส ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและมีผู้สั่งจองจำนวนมาก เพราะเป็นการสกัดจากธรรมชาติที่ไม่มีผลข้างเคียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น