คุ้มเจ้าในลำพูน

DSCF0022 หลังจากที่พญามังรายได้ทรงดำริที่จะสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง (พ.ศ.1839) เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา ต่อมาเชียงใหม่ถูกพม่าเข้าปกครองและถูกทิ้งให้รกร้างมานานกว่า 200 ปี (พ.ศ.2101 – 2317) กระทั่งพระเจ้ากาวิละได้ทรงรวบรวมไพล่พลขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่และได้ทำการกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่าง ๆ ในดินแดนล้านนาเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นยุคของการ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” (พ.ศ.2339) จากนั้นพระเจ้ากาวิละได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 ซึ่งเป็นต้นสกุล “เจ้าเจ็ดตน” และต้นราชสกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง

พระเจ้ากาวิละได้ทรงกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองในอาณาจักรล้านนาจำนวน 52 เมือง ให้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ ลำพูนโดยอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของเจ้าผู้ครองนคร ในสมัยพระเจ้ากาวิละปกครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ก็ได้สืบทอดแบบการปกครองบ้านเมืองตามโบราณและมีการปรับปรุงโดยนำแบบการปกครองของสยามเข้ามาใช้คือการตั้ง “เจ้าอุปราช” หรือ “เจ้าวังหน้า” และ “เจ้าบุรีรัตน์” หรือ “เจ้าวังหลัง” และแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะปกครองระดับสูง ประกอบด้วย พระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้านและพระยาเด็กชาย ต่อมาในสมัยของพระยาคำฝั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3 ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขันทั้งห้า หรือ เจ้าขันห้าใบ คือเจ้านายห้าองค์ที่มีพานเป็นเครื่องประกอบยศ มีเจ้าหลวงเป็นประธาน และเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าราชบุตร ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมกำลังรบเป็นสำคัญ

หลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งเจ้านายในราชสำนักฝ่ายเหนือแล้วก็ได้มีการสร้างที่พำนัก หรือ “คุ้ม” ซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนครตามตำแหน่งเจ้าศักดินาขันห้าใบ คือ เจ้าผู้ครองนคร, เจ้าอุปราช, เจ้าราชวงศ์, เจ้าบุรีรัตน์, เจ้าราชบุตร ส่วนเจ้านายบรรดาศักดิ์รองลงไปไม่นิยมเรียกที่พำนักว่าคุ้ม ส่วน “เวียงแก้ว หอคำ และคุ้มหลวง” เป็นที่ประทับและทรงงานของกษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ซึ่งจะมีอาณาบริเวณกว้างขวางและมีอาคารหลายหลังเชื่อมต่อกัน

DSCF0002ในสมัยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูนองค์สุดท้ายก็ได้มีการสร้างคุ้มหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับรวมถึงคุ้มเจ้าของบรรดาลูกหลาน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ รอบเมืองลำพูน แต่เมื่อภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 และการพิราลัยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ในปี พ.ศ.2486 เมืองลำพูนได้เปลี่ยนมาเป็นจังหวัดเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในช่วงนี้มีการสร้างสถานที่ราชการ อาคาร ร้านค้าขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ศาลากลางจังหวัด ซึ่งเดิมคือคุ้มหลวงของเจ้าอินทยงยศโชติ, เรือนจำ เดิมคือวัดร้าง ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย ซึ่งทำให้สภาพเมืองลำพูนเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบันและมีผลต่อสภาพแวดล้อมและสถาปัตยกรรม

ยุคแรกของการสร้างเมืองสมัยพระนางจามเทวี ได้มีการสร้างพระราชวังอยู่ในบริเวรใกล้ประตูนคร ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เป็นพื้นที่มงคลสำคัญอยู่ส่วนบนขวาหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ภูมิประเทศที่เป็นดอนเนินสูงเหมาะเป็นที่ตั้งของที่ประทับกษัตริย์ ปัจจุบันคือบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

ยุคของราชวงศ์มังรายเขตพระราชวังของพระเมืองแก้ว สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณหัวข่วงตอนบนของเมืองบริเวณวัดศรีบุญเรืองและวัดช้างรอง ตามทักษาและความเชื่อของการเลือกที่ตั้งของที่ประทับกษัตริย์ ต่อมาในยุคของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน “หอคำเวียงแก้ว” ของคุ้มเจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 1 ถึงองค์ที่ 9 จะอยู่ในบริเวณตอนบนของเวียง ดังปรากฏหลักฐานว่า คุ้มหลวงเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 9 (พ.ศ.2438 – 2454) คือที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด และบริเวณด้านใต้เป็นที่ตั้งของคุ้มน้อยใหญ่เรียงรายกันอยู่ทั่วบริเวณถนนอินทยงยศ ถนนราชวงศ์ ถนนแว่นคำ ซึ่งแต่ละคุ้มจะมีแนวเขตไม่ต่ำไปกว่าถนนรถแก้ว หรือแนวเขตสะดือเมืองในวัดพระธาตุหริภุญชัย เช่นบริเวณบ้านพักผู้พิพากษา บ้านพักสัสดี ปัจจุบันไม่มีร่องรอยปรากฏให้เห็นแล้ว

DSCF0003ต่อมาสมัยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 10 (พ.ศ.2454 – 2486) ได้สร้างคุ้มหลวงจักรคำและคุ้มต้นแก้วขึ้น นอกที่ประทับของกษัตริย์ตามทักษาและความเชื่อดั้งเดิม นอกจากนั้นยังพบว่าการสร้างคุ้มในยุคสุดท้ายนี้ยังมีการสร้างคุ้มขึ้นในบริเวณด่านล่างของเมือง เช่น คุ้มเจ้าสายใจ ณ ลำพูน, คุ้มเจ้ารวงคำ ณ เชียงใหม่ และยังมีการสร้างคุ้มในบริเวณรอบนอกกำแพงเมือง ได้แก่ คุ้มเจ้าหญิงคำย่น ณ ลำพูน สมรสกับเจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ (ธรรมลังกา) สร้างคุ้มเมื่อปี พ.ศ.2455 บริเวณประตูลี้และคุ้มเจ้าหญิงแขกแก้วมาเรือน ณ ลำพูน ซึ่งสร้างอยู่นอกประตูช้างสี
ปัจจุบันในบริเวณตัวเมืองลำพูนยังปรากฏคุ้มเจ้าให้เห็นได้แก่ คุ้มเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2468 พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์สร้างขึ้นขณะที่เจ้าพงษ์ธาดา ณ ลำพูน ราชบุตรเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ.2463 – 2474 เจ้าพงษ์ธาดาพำนักที่คุ้มหลวงแห่งนี้จนถึงแก่อนิจกรรม คุ้มหลวงเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เป็นอาคารสถาปัตยกรรมทรงยุโรปแบบทรงปราสาทในเยอรมันและสวีเดน โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ โถงทางเข้ากลางอาคารด้านหน้าอยู่ทางทิศเหนือ มีซุ้มระเบียงแปดเหลี่ยมเป็นหอสูง 3 ชั้นอยู่ขนาบทั้งสองข้างของอาคาร หลังคาอาคารเป็นจั่วปั้นหยามุงด้วยหลังคากระเบื้องซีเมนต์ หน้าจั่วมีลายฉลุและตรารูปช้างสองเชือกชูจักรสีทองมีอักษรย่อ จ.ค. (จักรคำขจรศักดิ์) หลังคาของหอสูงทั้งสองคล้ายโดมมียอดแหลมสำหรับประดับธงทิว ถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีคุณค่า

DSCF0035

คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ อยู่บริเวณหลังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย เจ้าจักรคำขจรศักดิ์สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2455 เพื่อเป็นที่ประทับให้กับเจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ (พุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่) บุตรของเจ้าน้อยมหาวงศ์ กับเจ้าหญิงส่องหล้า น้องของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์เป็นอาคารเรือนสะระไนขนาดใหญ่ ครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาจั่วผสมปั้นหยา ต่อมาสมาคมพ่อค้าชาวจีนในลำพูนได้ซื้อคุ้มแห่งนี้เพื่อเปิดสอนภาษาจีน ใช้ชื่อว่าโรงเรียนหวุ่นเจิ้น (เจริญและเที่ยงธรรม) กระทั่งปี พ.ศ.2502 เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยา

คุ้มเจ้าสายใจ ณ ลำพูน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2483 เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง โครงสร้างไม้ฝาผนังตีเป็นแนวนอน หลังคาปั้นหยาสองหลังมุงด้วยกระเบื้องหางว่าว มีการตกแต่งราวระเบียงด้วยไม้ฉลุลวดลายเรขาคณิต

คุ้มเจ้ารวงคำ ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ เจ้าน้อยพุทธวงศ์และเจ้าแม่หล้าราชสัมพันธ์ เป็นบ้านเดี่ยวสองชั้นยกพื้นสูงเล้กน้อย มีโถงทางเข้าบ้าน เสาก่ออิฐฉาบปูนผสมโครงสร้างไม้หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องหางว่าว สร้างโดยช่างชาวจีนเมื่อประมาณปี พ.ศ.2463 นอกจากนั้นยังมีคุ้มเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน ราชบุตรของเจ้าจักรคำขจร

ศักดิ์ คุ้มเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน ราชบุตรของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งถือเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมที่ปัจจุบันถูกบดบังด้วยอาคารรูปทรงสมัยใหม่ที่ไร้ซึ่งสุนทรียะ

อย่างไรก็ตามความสำคัญของคุ้มเจ้าในดินแดนล้านนายังคงมีคุณค่าต่อจิตใจของผู้คนชาวเมืองมาเป็นเวลาช้านาน แม้ว่าปัจจุบันระบบเจ้าผู้ครองนครจะถูกยกเลิก ทว่าคุณค่าของสถาปัตยกรรมในฐานะของ “คุ้มเจ้า” หาได้ลดน้อยหรือสูญหายไปกับกาลเวลานั้นเลย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น