ปากบ่อง…อดีตย่านการค้าทางเรือของป่าซาง

DSC_8940แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าร้อยปี ย่านชุมชนการค้าปากบ่อง จึงเป็นตำนานบทเริ่มต้นของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในฐานะพลเมืองชั้นสอง ที่เข้ามาทำการค้าอยู่ในเชียงใหม่ ลำพูน ให้สามารถลืมตาอ้าปาก มั่งคั่งร่ำรวย จากอาชีพค้าขายจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคมจวบจนทุกวันนี้

หากย้อนหลังไปเมื่อราว 100 กว่าปีที่ผ่านมา ชุมชนการค้าริมฝั่งแม่น้ำปิงได้มีบทบาทสำคัญต่อระบบการค้าของอาณาจักรล้านนา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนการค้าริมฝั่งแม่น้ำปิงที่วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงชุมชนการค้าริมฝั่งแม่น้ำปิงที่ปากบ่อง จังหวัดลำพูน ล้วนแล้วแต่เคยรุ่งเรืองมั่งคั่ง คร่าคร่ำไปด้วยชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขายและเรือสินค้าจากต่างถิ่นจำนวนมาก

ชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าที่ปากบ่อง ถือได้ว่าเป็นคนจีนกลุ่มแรกที่มีอิทธิพลต่อการค้าทั้งลำพูนและเชียงใหม่ในเวลาต่อมา หลังจากที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขายอยู่ที่ปากบ่องระยะหนึ่งแล้ว ชาวจีนเหล่านี้ได้พากันอพยพเดินทางไปตั้งรกรากค้าขายอยู่ในที่ต่าง ๆ อาทิ ที่ย่านวัดเกตการาม เชียงใหม่ ย่านหลังกาดหลวงหน้าวัดชัยมงคล ลำพูน ล้วนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนจีนทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อเราเดินทางไปที่บริเวณชุมชนวัดเกต จึงพบเห็นกลุ่มเครือญาติของคนจีนที่อพยพมาจากปากบ่องเข้ามาตั้งรกรากค้าขายอยู่ที่นี่ เช่น เจ๊กหมาแดง ต้นตระกูลวิบูลสันติ นางนาก แซ่อูน ต้นตระกูลอุนจะนำ หรือแม้แต่หลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ แซ่ฉั่ว) ก็ล้วนอพยพมาจากปากบ่องทั้งสิ้น

ย่านชุมชนการค้าทางเรือปากบ่องนั้น ในอดีตนับว่าเป็นชุมทางการขนส่งสินค้าทางเรือขนาดใหญ่ กล่าวกันว่า สินค้าจากภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็น กะปิ เกลือ ปลาแห้ง น้ำมันกาซ ที่ใส่เรือสีดอ หรือ เรือหางแมลงป่องมาจากปากน้ำโพถูกลำเลียงขึ้นมาเก็บในโกดัง ก่อนจะขนถ่ายใส่เกวียนไปขายยังตัวเมืองลำพูนและเชียงใหม่

DSC_8928

พ่อบุญรัตน์ อุนจะนำ อายุ 77 ปี ลูกหลานของอุ้ยหมา อุนจะนำ ซึ่งค้าขายอยู่ที่ย่านปากบ่องเล่าว่า เมื่อก่อนจะมีเรือจากเมืองระแหงขึ้นมาจอดที่ท่าเรือปากบ่อง จากนั้นพ่อค้าจากลำพูน ป่าซาง จะนำล้อเกวียนมาขนสินค้าไปขาย สินค้าจากเรือจะถูกนำมาเก็บไว้ที่นี่ จะมีพ่อค้ามารับเอาไปขายอีกทีหนึ่ง นอกจากนั้นสินค้าบางส่วนที่ซื้อมาจากเชียงใหม่ก็จะถูกลำเลียงใส่เรือสีดอ เพื่อไปขายที่ปากน้ำโพต่อ ได้แก่ กระเทียม ครั่ง ฝ้าย ผ้าทอ รวมไปถึงของป่า

ที่ย่านปากบ่อง จึงเป็นเสมือนชุมทางแลกเปลี่ยนสินค้าและจุดพักของ นับเป็นย่านการค้าของชาวจีนที่ใหญ่แห่งหนึ่ง มีโกดังสินค้ามากกว่า 10 แห่งและโรงเหล้า หากจะถามว่าชาวจีนเหล่านี้อพยพมาจากที่ไหน และทำไมถึงเดินทางเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ปากบ่อง อาจสันนิษฐานได้ว่า หลังจากที่มีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในสยามเป็นจำนวนมาก ต่างพากันอพยพออกไปหาทำเลที่ตั้ง บ้างก็ไปอยู่ภาคใต้ บ้างก็อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ขณะเดียวกันมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งเดินทางมาตั้งรกรากอยู่ที่นครสวรรค์ หรือ ปากน้ำโพ ขณะที่บางส่วนได้เดินทางต่อขึ้นเหนือมาจนถึงปากบ่อง ก่อนจะอพยพโยกย้ายไปอยู่ในเมืองลำพูนและเชียงใหม่

การเดินทางเข้ามาตั้งรกรากของชาวจีนกลุ่มแรก ๆ เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว (ประมาณ ปี พ.ศ. 2400) มีความน่าสนใจมาก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทาง การอพยพเข้ามาจึงอาศัยทางเรือ สมัยนั้นยังไม่มีทางรถไฟ หรือ รถยนต์ (รถไฟเริ่มเข้ามาในเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2464) ส่วนรถยนต์ ไม่ทราบปีพ.ศ. แต่จากรายงานของ อ.แสง จันทร์งาม กล่าวว่า ปี 2460 หลวงอนุสารสุนทรเป็นผู้ริเริ่มกิจการเดินรถโดยสารขึ้นในเมืองเชียงใหม่ รับส่งระหว่าง เชียงใหม่ – ลำพูน ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของ แม่นวลแก้ว เมธังกูร (เทพพรหม) อายุ 87 ปี เล่าว่า สมัยก่อนการเดินทางจากลำพูนไปเชียงใหม่จะใช้รถโดยสารของเจ๊กมะ เป็นรถที่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ราคาค่าโดยสารคนละ 1 สตางค์

DSC_8958แต่จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาทำให้การเดินทางด้วยเท้ามีความยากลำบาก ดังนั้นการเดินทางโดยเรือจึงเป็นการคมนาคมทางเดียวที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งจากบันทึกของ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี มิชชั่นนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในล้านนา กล่าวถึงการเดินทางจากเมืองบางกอก โดยออกเดินทางเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2406 ถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2407 ใช้เวลากว่า 2 เดือน โดยใช้เส้นทางเรือมาจนถึงเมืองระแหง จากนั้นจึงใช้ช้างสลับกับการเดินเท้ามาจนถึงเมืองเชียงใหม่

นอกจากนั้นยังมีบันทึกของนายปิแอร์ โอร์ต นักสำรวจชาวเบลเยี่ยม ได้บันทึกการเดินทางจากบางกอก เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2440 ทางลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองชัยนาท ปากน้ำโพ ขึ้นมาตามแม่น้ำปิง จนถึงเมืองกำแพงเพชร เมืองระแหง จนถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2440 ซึ่งจากบันทึกดังกล่าว ทำให้เห็นว่า ในอดีตการเดินทางโดยใช้เรือเป็นเส้นทางเดียวที่ง่ายและสบาย

ด้วยเหตุนี้ชาวจีนที่อพยพขึ้นมาค้าขายอยู่ที่ปากบ่อง จึงเดินทางมากับเรือสินค้าแล้วมาตั้งรกรากอยู่บริเวณชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ จนเกิดเป็นย่านการค้าที่ใหญ่สำคัญ จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2443 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองบริหารราชการแผ่นดินตั้งเวียงป่าซางในสมัยพระเจ้ากาวิละขึ้นเป็นแขวงปากบ่อง พร้อมกับมีการตั้งที่ว่าอำเภอปากบ่องอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง

DSC_8941จนถึงปี พ.ศ.2489 เมื่อมีการตัดถนนหลวงสายเอเชีย จากเมืองเถิน – เชียงใหม่ ผ่านบ้านป่าซาง ทำให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายหลักเส้นแรกที่ผ่านตัวอำเภอป่าซาง มีผู้คนจำนวนมากแวะพักอำเภอป่าซางเพื่อรับประทานอาหารและซื้อสินค้า ทำให้ในช่วงเวลานั้นป่าซางเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด เกิดเป็นศูนย์กลางการค้าทางบกขึ้น ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ที่บ้านป่าซาง ประการหนึ่งคือ ทำเลที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอปากบ่องคับแคบ พอถึงฤดูน้ำหลากทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ขณะเดียวกันการคมนาคมทางน้ำได้ลดความสำคัญลง จนทำให้ชุมชนการค้าย่านปากบ่องจากที่เคยเป็นชุมทางการค้าทางเรือกลายเป็นเพียงอดีตแห่งตำนานการค้า เช่นเดียวกับชุมชนการค้าทางเรือของเชียงใหม่ เช่น ย่านวัดเกตการาม

แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าร้อยปี ย่านชุมชนการค้าปากบ่อง จึงเป็นตำนานบทเริ่มต้นของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในฐานะพลเมืองชั้นสอง ที่เข้ามาทำการค้าอยู่ในเชียงใหม่ ลำพูน ให้สามารถลืมตาอ้าปาก มั่งคั่งร่ำรวย จากอาชีพค้าขายจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคมจวบจนทุกวันนี้

DSC_8955

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น