เปิดกรุผ้าโบราณ ของนักสะสมผ้าเมืองเหนือ

14017802_1403556549661026_1575925265_n

เส้นไหมที่ถักทอจนเกิดลวดลายต่างๆ เป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับชาติพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาอย่างช้านาน เส้นด้ายพุ่งด้ายยืนที่ร้อยเรียงได้บอกเล่าเรื่องราวเทียบเท่ากับหนังสือประวัติศาตร์เล่มหนาๆ หากแต่ผู้รู้และเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นในปัจจุบันกลับมีเพียงไม่กี่กลุ่ม เพราะต้องอาศัยหัวใจแห่งรัก ความแม่นยำ และประสบการณ์จึงจะสามารถตีความสัญลักษณ์ลวดลายบนผืนผ้าเหล่านั้นได้

แล้ววันนี้เราจะมา “เปิดกรุผ้าโบราณ” ของนักสะสมผ้าเมืองเหนือกัน…

“อัครเดช นาคบัลลังก์” หรือ “คุณป้อม สบันงา”
“อัครเดช นาคบัลลังก์” หรือ “คุณป้อม สบันงา”

14055628_1403556529661028_19937204_n

เริ่มด้วย “อัครเดช นาคบัลลังก์” หรือ “คุณป้อม สบันงา” ผู้สะสมผ้าทอโบราณพร้อมกับศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของผ้าจากแหล่งต่างๆ ที่ใครต่อใครต่างยอมรับว่านี่คือ “ตัวจริง” ของวงการผ้าโบราณคนหนึ่ง ที่มีกรุผ้าโบราณอันประเมินค่าไม่ได้นับหมื่นชิ้น ทั้งยังเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ “สบันงา” ที่จัดแสดงผ้าโบราณ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้ชมอีกด้วย โดยผ้าโบราณที่โดนเด่นของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงานั้น ได้แก่ “ผ้าซิ่นไหมคำ” อายุนับ 100 ปี จากราชสำนักเชียงตุงอันล้ำค่า จำนวนถึง 5 ผืน และ “เสื้อเดินได้” หรือ ”เสื้อคลุมทองคำของเจ้าฟ้าเชียงตุง”

“คุณอัญชลี ศรีป่าซาง”
“คุณอัญชลี ศรีป่าซาง”

13989694_1403556536327694_1337160828_n

ต่อมา “คุณอัญชลี ศรีป่าซาง” หรือ “คุณน้อย” เจ้าของร้านสีสันพรรณไม้ ผู้หลงใหลในผ้าโบราณอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “ความรักของพี่ที่มีต่อผ้าซิ่นเริ่มต้นจากการซื้อมาใส่ในชีวิตประจำวัน จากนั้นจึงเริ่มศึกษาและพบว่า ผ้าเก่าหรือผ้าโบราณมีเสน่ห์จับใจ เพราะส่วนใหญ่คนทอไม่ได้ทอเพื่อขาย แต่ทอเพื่อใช้เอง จึงมีความละเมียดละไมกว่าปัจจุบัน ผ้าโบราณบอกเล่าวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ผ่านลวดลายที่ถักทอ ซึ่งหาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบันเช่นกัน สำหรับผ้าที่โดดเด่นที่อยู่ในกรุ  จะเป็นผ้าซิ่นเด็กในราชสำนักจนถึงชาวบ้านธรรมดาเพราะส่วนใหญ่คนมักไม่รู้ว่า สมัยก่อน ชาวไทยยวน ไทเขิน ไทลื้อ หรือคนไทยในแถบล้านนา ล้านช้าง เชียงตุง นุ่งซิ่นกันตั้งแต่ 4-5 ขวบ ซิ่นเด็กจะมีความพิเศษคือการทอจะย่อขนาดลงจากของผู้ใหญ่ แต่ยังคงรายละเอียดเหมือนผู้ใหญ่ทุกประการ นับเป็นการทอที่ยากและใช้ความละเอียดสูงมากเลยทีเดียว”

14031185_1403556456327702_1703932118_n 14054593_1403556582994356_897981072_n

“คุณแก้วสิริ เอเวอริ่งแฮม” เจ้าของผ้าหลวงพระบางเปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของการหลงใหลในผ้าโบราณว่า “เริ่มเก็บครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว ช่วงนั้นมีคนมาเสนอขายผ้าจากหลวงพระบางค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นช่วงอพยพ ด้วยความเสียดายจึงซื้อเก็บไว้ เพราะส่วนใหญ่เป็นผ้าทอยกดิ้นเงินดิ้นทอง ผ้าปักดิ้นเงินดิ้นทองที่มาจากในราชสำนักหลวงพระบาง เริ่มจากผ้าสไบ ค่อยเก็บสะสมมาเรื่อยๆ จากนั้นก็เริ่มได้ผ้าไทแดง ไทดำ ไทขาว จากซำเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผ้าจกทอด้วยเทคนิคเกาะล้วง ความพิเศษของผ้าเหล่านี้คือเป็นผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเกิด การแต่งงาน หรือแม้กระทั่งผ้าหมอเหยา ผู้ทำพิธีกรรม ซึ่งในแต่ละครอบครัว อาจมีเพียงผืนเดียวเท่านั้น ต่อมาจึงเริ่มเก็บผ้าไทพวนจากเชียงขวาง  ผ้าไทลื้อจากไชยบุรี พงสาลี เราเก็บผ้าโบราณอายุ 100-200 ปี ตั้งแต่แหล่งดั้งเดิมจนถึงถิ่นที่อพยพมาตั้งรกราก ผ้าเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวชาติพันธุ์ในภูมิภาคแถบนี้ได้หมด ซึ่งจะเห็นความผูกพันของครอบครัวและวีถีชีวิตที่บอกเล่าผ่านทุกลายเส้นที่ทอ  ซึ่งแรกๆเก็บไปเรื่อยๆด้วยความไม่รู้ แต่ต่อมาเราตามรอยผ้าไปยังท้องถิ่นจึงเริ่มศึกษา จนทุกวันนี้เห็นลายก็บอกได้เลยว่ามาจากแหล่งไหน”

“คุณทัศนี พรพุฒินาค”
“คุณทัศนี พรพุฒินาค”

 

และ “คุณทัศนี พรพุฒินาค” เจ้าของร้านดาดา ลุนตยาผ้าโบราณ เปิดเผยว่า “การเก็บสะสมผ้าโบราณจริงๆแล้วซึมซับมาเรื่อยๆ เนื่องจากครอบครัวทำธุรกิจซื้อขายของแอนทีคจากฝั่งพม่า ซึ่งหลายๆครั้ง มีผ้าโบราณจากในราชสำนักพม่า อายุมากกว่า 100 ปีติดมาบ้าง เมื่อก่อนก็ซื้อมาขายไป แต่หลายครั้งที่เจอผ้าที่ชอบก็เก็บไว้เอง ไม่ได้คิดว่าจะเก็บเพื่อเพิ่มมูลค่าเลย คือเน้นที่ความชอบล้วนๆ ดูสีและลวดลายต่างๆ วัสดุเส้นใยที่ใช้ หรือแม้แต่เทคนิคการทอลุนตยาซึ่งเป็นแบบเกาะล้วงขั้นสูง สมัยนี้ไม่สามารถหาได้อีกแล้ว พอเก็บไปเก็บมา กลายเป็นเริ่มเยอะขึ้น คือผ้าโบราณที่เคยผ่านมือไปเป็นพันๆผืน เราเห็นแวบแรกรู้เลยว่าผ้ามาจากแหล่งไหน ผ้าโบราณในราชสำนักพม่าจะใช้เส้นไหมบางๆทอขึ้นมา ผ้ายะไข่จะทอผสมดิ้นเงิน ส่วนรัฐฉานจะเป็นการปักดิ้น และผ้าแต่ละยุคสมัย ก็จะมีเทคนิคหรือลวดลายที่ต่างกันออกไป เช่น ถ้าเป็นยุคของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ก็จะนำลุนตยามาต่อตีนจกเชียงใหม่”

“ผ้าโบราณ” ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงเรื่องราววิถีชีวิตและชาติกำเนิดของมัน แต่ละผืนผ่านกาลเวลา ก่อให้เกิดคุณค่าเกินจะบรรยาย และที่สำคัญหากปราศจากบุคคลในข้างต้น ที่มี “ความรัก” ผ้าโบราณ คนรุ่นหลังอย่างเราๆ และรุ่นต่อๆไป คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นคุณค่าของผ้าโบราณนี้ ต้องขอขอบคุณท่านข้างต้น ที่มี “หัวใจ” ของนักสะสม เก็บของดี บ่มจนเกิดคุณค่ามหาศาล ตกทอดสู่สายตารุ่นลูกรุ่นหลาน

14011992_1403556702994344_265596713_n 14018152_1403556542994360_46546125_n

ร่วมแสดงความคิดเห็น