เชียงใหม่ถกแนวทางแก้ไขปัญหาผู้สูงวัย

thaihealth_c_abdgknpxz147

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบรองรับสังคมผู้สูงวัยและผู้ด้อยโอกาส สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นำโดย นายเลิศชาย บูรณบัณฑิต และ พลเอก ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ กรรมาธิการที่ปรึกษาฯ และคณะ เดินทางมาติดตามสถานการณ์และปัญหาผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้ารับฟังข้อมูลบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ร่วมประชุมและให้ข้อมูล จังหวัดเชียงใหม่มีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 15 ของประชากร 1 ล้าน 6 แสนคนเศษ หรือ ประมาณ 2 แสน 5 หมื่นคน

นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักที่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 5,200 คน เป็นชาวญี่ปุ่น, เกาหลี และมาจากยุโรปบางส่วน โดย เมื่อปี 2558 มีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทางสังคมอยู่ที่ 8,617 คน คิดเป็นร้อยละ 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่การเข้าไม่ถึงบริการทางสังคมของผู้สูงอายุ รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความยากจน มีภาระเลี้ยงดูบุตรหลาน และกลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีคนดูแล และมีประมาณ 31 คนที่ถูกกระทำความรุนแรง จังหวัดเชียงใหม่จึงได้มียุทธศาสตร์และกระบวนการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 210 แห่ง ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และขับเคลื่อนเครือข่ายผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในจังหวัดเชียงใหม่

นางมิ่งขวัญ วีระชาติ ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ เปิดเผยว่า สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 พอถึงปี 2558 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 และคาดว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 จึงเป็นปัญหาที่ค่อนข้างหนักหน่วง เพราะมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน หรือติดเตียง ต้องมีผู้ดูแลประจำวันถึงร้อยละ 15 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

เนื่องจากลูกหลานไปทำงานต่างท้องที่ หรือ เป็นโสด หรือ แต่งงานแล้วไม่มีลูก ร้อยละ 7.6 หรือ ประมาณ 64,600 คน ใน 7 จังหวัด โดยผู้สูงอายุเหล่านี้จะอยู่เพียงลำพังในชุมชน จนกระทั่งไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หลังจากนั้นชุมชนจึงจะนำส่งศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ หรือ สถานสงเคราะห์คนชรา แต่ก็มีข้อจำกัดในการดูแล โดยเฉพาะที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่รับผิดชอบ ดูแลผู้สูงอายุ ที่ประสบปัญหาทางสังคมและยากจน จาก 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รับได้เพียง 130 คนเท่านั้น แม้จะมีสถานดูแลผู้สูงอายุภาคเอกชนเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 10 กว่าแห่ง แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง ขณะที่การสร้างบ้านกลางในชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง โดยมีอาสาสมัครดูแล แต่ก็จะดูแลได้เฉพาะเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจาก สัดส่วนคนในวัยแรงงานที่ดูแลผู้สูงอายุมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ในระยะยาวบ้านกลางจึงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบรองรับสังคมผู้สูงวัยและผู้ด้อยโอกาส สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะนำข้อมูลสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาระดับชาติต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น