อาหารบุฟเฟ่ต์ กินอย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพ

p10 “อาหารบุฟเฟ่ต์” ปัจจุบันมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน มีกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นจนบางร้านต้องรอคิวกว่าชั่วโมงเพื่อเข้ารับประทาน เหตุนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า “บุฟเฟ่ต์” ได้เข้ามาเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของสัมคมไทยไปแล้ว

ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายสามารถกินได้แบบไม่อั้น “อาหารบุฟเฟ่ต์” จึงกลายเป็นอาหารยอดนิยมของกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา โดยการกินบุฟเฟ่ต์ส่วนใหญ่มักจะคิดถึงความคุ้มทุนโดยจะพยายามกินอาหารปริมาณมาก หรือเลือกกินอาหารราคาแพง เพื่อจะให้คุ้มค่ากับราคา

ทั้งนี้ ร่างกายนำพลังงานจากอาหาร มาใช้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น นั่ง นอน ยืน เดิน ทำงาน ออกกำลังกาย ถ้าได้รับพลังงานมากเกิน ความต้องการร่างกายจะนำพลังงานส่วนเกินนั้นไปเก็บสะสมในรูปไขมันเพื่อเป็นพลังงานสำรอง ถ้ามีการสะสมของไขมันมากขึ้นก็จะนำไปสู่โรคอ้วน และนำไปสู่โรคต่างๆ

1. กินน้อย ก่อนกินมาก จำไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า “การอดอาหารเพื่อกะไปกินบุฟเฟต์กับเพื่อนๆ ให้คุ้มนั้นไม่คุ้มอย่างที่คิด” เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายลดการเผาผลาญพลังงานลงแล้ว เรายังอาจรู้สึกหิวมากเกินไปตอนไปกินบุฟเฟต์ ดังนั้นควรเลือกกินอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลงก่อนไปกินบุฟเฟต์สัก 1 วัน หรือ 1-2 มื้อ (ถ้าหิวมากจนอดใจไม่ไหว ก็ควรกินผลไม้หรือดื่มนมไขมันต่ำ และตามด้วยน้ำเปล่ารองท้อง) แต่ถ้ามีเหตุให้ต้องไปกินแบบไม่ทันได้เตรียมตัว ก็ควรลดอาหารในวันหลังจากนั้นให้น้อยลง

2. ลุกเดิน-วอร์มอัพ ก่อนหรือหลังกินบุฟเฟต์ การเดิน เป็นกิจกรรมทางกายที่ง่ายสุดๆ ฉะนั้นจะลุกขึ้นมาเดินเพิ่มขึ้น 20-30 นาที ประมาณ 5-7 วัน ก่อนหรือหลังไปกินบุฟเฟต์ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความสามารถ

3. เสื้อผ้าก็สำคัญ ควรใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัว ไม่ควรใส่ชุดหลวมๆ เพราะเราอาจเพลิดเพลินกับอาหารจนกินเกินอิ่มได้ง่ายๆ

4. ไกลไว้ดีกว่าใกล้ การเลือกที่นั่งไกลจากซุ้มอาหาร ช่วยให้เราได้เพิ่มการใช้พลังงานทุกครั้งที่เดินมาตัก

5. สำรวจร้านเตรียมรับมือ ชิงเดินสำรวจอาหารทั้งหมดให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้วางแผนการรบกับกองทัพอาหารได้ถูกว่าควรเลือกเอาอะไรใส่ปากบ้าง และไม่ต้องเจอกับสถานการณ์ประเภท ‘อิ่มแล้ว แต่เพิ่งเดินมาเห็น’ แถมยังได้เดินเพิ่มก้าวอีกเล็กน้อยด้วย

6. จานเล็กช่วยได้ การหยิบจานเล็กใส่อาหารเหมือนไม่น่าจะช่วยอะไรเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้มีการศึกษามาแล้วและพบว่าการลดขนาดจานลง 2 นิ้ว ช่วยให้เรากินอาหารลดลงถึงร้อยละ 22

7. สลัดมาจานแรก ควรเลือกตักสลัด (น้ำสลัดน้อยๆ) เป็นจานแรก

8. ไม่ติดมัน ไม่เอาน้ำผัด ควรเลือกกินเนื้อสัตว์ประเภทต้มหรือนึ่ง ถ้าปิ้งย่างก็ไม่เอาแบบไหม้เกรียม ส่วนพวกเนื้อติดมัน น้ำผัด และชุบแป้งชุบไข่ทอดนี่อยู่ให้ห่างไว้

9. ตักเผื่อล้นโต๊ะ การมีน้ำใจถือเป็นสิ่งดี แต่การตักเผื่อคนอื่นเวลากินบุฟเฟต์นั้น อาจทำให้มีอาหารล้นโต๊ะ ควรตักอาหารแต่ละชนิดไม่เกิน 1-2 ช้อน และตักทีละจานก็พอแล้ว

10. ผ้าเช็ดปากเตือนสติ แค่เอาผ้าเช็ดปากมาวางไว้บนตัก เราก็สามารถรู้ตัวทุกครั้งเวลาที่ลุกไปตักอาหาร และจะได้บังคับตัวเองไม่ให้ลุกจนเพลิน

11. สนทนาละความสนใจ มากินบุฟเฟต์ทั้งทีจะเน้นกินอย่างเดียวก็คงกระไรอยู่ ควรหันไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมโต๊ะให้มากขึ้นจะได้ช่วยดึงความสนใจของเราออกจากอาหารและกินอาหารได้น้อยลง

12. น้ำเปล่าดีที่สุด น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมก็ล้วนเป็นเครื่องดื่มเพิ่มแคลอรีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหันมาดื่มน้ำเปล่าดีกว่า

13. ตัดทิ้งแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะทำให้เรามีภาวะขาดน้ำแล้ว ยังกระตุ้นให้เราดื่มน้ำหรือกินอาหารเพิ่มขึ้นฉะนั้นเมินได้ก็เมินเถอะ

14. โปรดระวังไขมันแอบแฝง หลีกเลี่ยงไขมันแอบแฝงซึ่งซุกซ่อนอยู่ใน เนย น้ำสลัด (ไม่ว่าจะเป็น น้ำใสหรือน้ำข้น) รวมถึงเกลือแอบแฝงที่อยู่ในบรรดาซอสต่างๆ (ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ) หรือกระทั่งครีมทาร์ทาร์ และน้ำจิ้มเอง ก็ควรจิ้มให้น้อยที่สุด

p11

การกินอาหารที่ดี จะต้องใส่ใจว่าเรากินเข้าไปมากน้อยเพียงใด รู้จักการควบคุม “แคลอรี่” หรือปริมาณ พลังงานของอาหารที่กิน โดยผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณวันละ 2,000 กิโลแคลอรี และผู้หญิง วันละ 1,600 กิโลแคลอรี ปริมาณที่ว่านี้ รวมทั้งอาหารคาวและหวาน อาหาร 1 มื้อควรได้แคลอรี่ประมาณ 400-700 กิโลแคลอรี่ โดยอาหารเย็นเป็นมื้อที่มีแคลอรีต่ำกว่ามื้ออื่นๆ อาหารว่าง ต้องจำกัดให้น้อยกว่า 200 กิโลแคลอรีในแต่ละครั้ง และเมื่อรวมกับ อาหารมื้อหลักทั้งวันแล้วต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด ลด หรืองดอาหารที่ให้พลังงานสูง อาหารรสจัด และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง

เพราะไม่ว่าจะเป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ หรืออาหารทั่วไปก็ตามหากกินมากเกินไป ก็สามารถทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากมาย ความคุ้มค่าของราคาและปริมาณ อาจเทียบไม่ได้กับค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น กินอย่างพอดี เสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อสุขภาพที่ดีกันน

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น