ประวัติถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน

DSC_8132

ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน (สายเก่า) นี้ มีความผูกพันกับแม่น้ำปิงห่าง ต้นยาง และต้นขี้เหล็กอย่างแยกไม่ออก แต่เดิมแม่น้ำปิงตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองล้านนาเชียงใหม่ ชินกาลมาลีปกรณ์ จะไหลผ่านทางทิศตะวันออกของเวียงกุมกาม และทิศตะวันออกของตัวเมืองหริภุญชัยและวัดอรัญญิกรัมมการาม (วัดดอนแก้ว) ซึ่งเป็นสี่มุมเมืองในสมัยพระนางจามเทวี คงอยู่ในพื้นที่ฝั่งเดียวกับตัวเมืองลำพูน ในพงศาวดารโยนกกล่าวถึงพญามังรายยึดครองเมืองหริภุญชัยได้และไปสร้างเมืองใหม่ในทางทิศอีสานของเมืองหริภุญชัยชื่อ “ชะแว” ได้ 3 ปี เกิดน้ำท่วมจึงไปสร้างเมืองกุมกาม แม่น้ำปิงคงเปลี่ยนทางเดินไหลผ่านเข้าในตัวเมืองหริภุญชัยและไหลผ่านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยในสมัยพญามังราย ระยะทางจากเวียงกุมกามถึงตัวเมืองหริภุญชัยประมาณ 25 กิโลเมตร จนถึงสิ้นราชวงศ์มังราย ในสมัยท้าวแม่กุ (พระเจ้าเมกุฏิ) พ.ศ.2101 แม่น้ำปิงยังไหลผ่านทางทิศตะวันออกของเวียงกุมกามและทิศตะวันออกของตัวเมืองหริภุญชัยอยู่ แต่ในระหว่าง พ.ศ.2101 ถึง พ.ศ.2317 พม่าเข้าปกครองล้านนา เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่มีการบันทึก จนถึง พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพขึ้นมาตามแม่น้ำปิงสายปัจจุบันนี้ ที่ไหลผ่านทิศตะวันตกของเวียงกุมกามและทิศตะวันตกของเมืองหริภุญชัย แสดงว่าแม่น้ำปิงเปลี่ยนร่องน้ำจากเดิมในช่วงที่พม่าปกครองล้านนา แม่น้ำปิงระหว่างเวียงกุมกามกับเมืองหริภุญชัยจึงกลายเป็น แม่น้ำปิงห่าง แต่แม่น้ำปิงห่างตั้งแต่บ้านหลิ่งห้า อำเภอเมืองลำพูนไหลไปพบแม่น้ำปิงสายปัจจุบันที่อำเภอป่าซาง ยังมีน้ำจากแม่น้ำกวงไหลลงสู่ลำน้ำปิงห่างอยู่ ซึ่งปัจจุบันจึงเรียกแม่น้ำช่วงนี้เป็น แม่น้ำกวง

รับมือน้ำท่วม-3-696x394

แม้จะเป็นแม่น้ำปิงห่าง แต่ก็ยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูน อารยธรรมลุ่มแม่น้ำปิงห่างยังปรากฏให้เห็นในการตั้งหมู่บ้านตลอดแนวแม่น้ำและมีวัดสร้างริมฝั่งแม่น้ำตลอดแนวแม่น้ำปิงห่าง ประมาณ 30 วัด

การตั้งถิ่นฐานไปตามแนวแม่น้ำปิงห่าง ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมทางบกเลียบแนวแม่น้ำปิงห่าง เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสำคัญของการติดต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูนในเวลาต่อมา และมีการพัฒนาเส้นทางขึ้นตามลำดับ ตามหลักฐานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้มีการสร้างถนนอย่างเป็นทางการขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2438 โดยพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง เริ่มสร้างตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ เลียบแนวแม่น้ำปิงห่างที่วัดกู่ขาว จนถึงเมืองลำพูน ทำให้การคมนาคมในแม่น้ำปิงห่างขาดความสำคัญ และประชาชนได้บุกรุกเข้าอยู่อาศัยจนไม่เหลือสภาพการเป็นแม่น้ำที่สำคัญในอดีตให้เห็น ยกเว้นในบางช่วงในเขตเทศบาลตำบลอุโมงค์อำเภอเมืองลำพูน

ถนนสายนี้ส่วนหนึ่งสร้างบนผนังดินธรรมชาติของแม่น้ำปิงห่าง ถนนสายนี้นับเป็นถนนที่ทีความสำคัญและเป็นถนนสานแรกที่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองทั้งสอง มีการซ่อมแซมปรับปรุงตลอดมา โดยเฉพาะที่ระบุไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2443, พ.ศ.2448 และในปี พ.ศ.2454 ทางราชการได้นำต้นยางมาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกตลอดสองข้างทาง เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม ส่วนในเขตเมืองลำพูนได้ปลูกต้นขี้เหล็ก ต้นไม้ตลอดเส้นทางของถนนสายนี้มีร่วมสองพันต้น มีการปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา ตลอดเส้นทาง นับเป็นเอกลักษณ์คู่ถนนสายนี้ตลอดมาร่วมร้อยปีแล้ว

DSC_8127ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของชุมชนเข้าสู่การเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการขาดการวางแผนการป้องกันระยะยาวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะถนนสายนี้ ทำให้มีก่อสร้างอาคารร้านค้าและที่พักอาศัยใกล้ชิดติดแนวถนน และการใช้ที่สาธารณะข้างถนนโดยขาดการอนุรักษ์ต้นไม้ มองเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลประโยชน์ของบุคคลและกลุ่มคน ทำให้จำนวนต้นไม้ลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าสภาพเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เอกลักษณ์ของต้นยาง-ต้นขี้เหล็กที่เคียงคู่กับถนนสายเชียงใหม่ –ลำพูน คงจะเหลือเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานให้อนุชนรุ่นหลังเท่านั้น

มิสเตอร์คอลินซ์กล่าวขึ้นว่า ได้ทราบข่าวจากชาวเมืองลำพูนว่าได้ตกลงกันจะปูอิฐตลอดถนนในระหว่างเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งมิสเตอร์คอลินซ์เห็นว่าถนนสายนี้เป็นถนนดีมากถ้าจะเอาอิฐปูเข้า เข้าใจว่าจะกลับทำให้ถนนเสียลง

ที่ประชุมได้ปรึกษากันช้านาน พระยาศรีสหเทพจึงพูดว่า ได้ฟังเสียงในที่ประชุมเห็นกันโดยมากว่าไม่ควรจะปูอิฐตามถนนในระหว่างเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน แต่ควรจะซ่อมแซมถนนให้ดีขึ้นนั้น พระยาศรีสหเทพมีความยินดีที่ได้ทราบดังนั้น ราษฎรจะได้ไม่มีความลำบากที่จะต้องทำถนน เพราะฉะนั้นจะได้ทดลองเอาอิฐปูตามถนนบางแห่งเพื่อจะได้ทราบว่าอิฐจะทนน้ำฝนได้เพียงไร และขอให้บรรดาท่านทั้งหลายที่ได้เคยไปมาตามถนนลำพูนได้โปรดชี้แจงว่าควรจะซ่อมตอนใดบ้าง

มิสเตอร์เกรก กล่าวว่า ชาวบ้านมักจะทำนาบนถนน ควรจะมีข้อบังคับให้เปิดทางไว้ให้คนเดินได้บ้าง

มิสเตอร์แฮริซ ชี้แจงว่า ในเรื่องทำนาบนถนนนี้มิสเตอร์แฮริซได้ทราบเหตุเรื่องหนึ่งที่มีท่านผู้หนึ่งต้องเสียเงิน 15 รูเปียเพื่อเป็นค่าทำขวัญที่ต้องเดินตัดนาไป

พระยาศรีสหเทพจึงได้ตกลงว่าต่อไปจะได้ห้ามมิให้ราษฎรทำนาบนถนนใหญ่ แต่จะต้องเปิดทางเดินไว้ให้กว้าง 6 ฟิตเสมอ แต่ข้อที่ห้ามนี้เฉพาะแต่ถนนใหญ่ ถ้าเป็นทางเดินเล็กน้อยไม่เป็นที่ห้ามอย่างใด

เจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐ์ศักดิ์ ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดการปลูกต้นไม้สองข้างทางหลวงแผ่นดินสายต่าง ๆ เพื่อความร่มรื่นแก่ผู้สัญจรไปมา ทั้งราษฎร สัตว์ พาหนะล้อเกวียนได้พักอาศัย ท่านจะทำอย่างไรก็มีแผนการล่วงหน้าไว้เสมอไม่ใช่คิดทำตามอารมณ์ชั่วแล่น ดังผู้ใหญ่สมัยนี้ชอบทำ เช่น

ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน เขตเชียงใหม่ปลูกต้นยางทั้งสองฟาก ลำต้นมหึมาของต้นยางนี้จะหาไม่พบอีกแล้วแม้แต่ในป่าภาคเหนือ พอเลยเขตเชียงใหม่เข้าเขตลำพูนก็ปลูกต้นขี้เหล็กให้รู้ว่าเป็นเขตแบ่งของสองจังหวัด

ถนนสายเชียงใหม่ – สันป่าตอง ปลูกต้นขี้เหล็ก

ถนนสายเชียงใหม่ – ดอยสะเก็ด ปลูกต้นประดู่

ถนนรอบคูเมือง ปลูกต้นสักกับต้นสน

ถนนในเมือง ประดับด้วยต้นโอ๊คพันธ์เมืองหนาว

เมื่อเข้าเขตลำพูนแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นปลูกต้นขี้เหล็กไว้สองข้างทาง จนกระทั่งถึงเขตตัวเมืองลำพูน น่าชมทางการอยู่อย่างหนึ่งที่ใช้สีสะท้อนแสงเขียนจุดขาวกลม ๆ ไว้ตามต้นไม้ข้างทาง ในเวลากลางคืนแสงไฟจากรถยนต์ส่องทำให้มองเห็นแนวถนนได้ถนัด นับว่าเป็นกาช่วยลดอุบัติเห็นได้อย่างหนึ่ง

เมื่อผ่านหลักกิโลเมตรที่ 24 ก็ผ่านทางแยกเข้าไปยังสถานีรถไฟจังหวัดลำพูน ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านวังทองเมื่อรถแล่นตรงเข้าไปก็จะเข้าสู่เขตที่ตั้งศาลากลางจังหวัดลำพูนจะผ่านกองกำกับการตำรวจภูธรกองเมืองลำพูน ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ และเมื่อรถแล่นมาถึงประตูช้างศรีซึ่งเป็นประตูเมืองโบราณทางทิศเหนือ ก็จะมองเห็นยอดพระเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามแต้ไกล ยอดพระเจดีย์ที่มองเห็นนั้นคือยอดพระธาตุหริภุญชัย อันเป็นมิ่งขวัญและเป็นที่เคารพสักการะ ของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน

22 กันยายน 2440

ข้าพเจ้าออกจากจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเวลาบ่าย 3 โมง นับว่าเป็นการออกเดินทางที่เอิกเกริกมาก มีข้าราชการสองคนตามไปส่งพร้อมด้วยพวกเจ้าพนักงานชั้นผู้น้อย ถนนจากเชียงใหม่ไปลำพูนซึ่งข้าพเจ้าเคยกล่าวถึงด้วยความชื่นชมนั้นมิได้มีสิ่งใดพิเศษ เป็นเพียงเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมาใต้ต้นไม้สูงหรือป่ามีธารน้ำไหลผ่านหลายแห่ง ภูมิประเทศดุเหมือนมีราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่น เราพบฝูงวัวควายที่ดูน่าชมอยู่หลายฝูง อีกราว 2 กิโลเมตรจะถึงเมืองลำพูน ข้าพระเจ้าพบเจ้านายลำพูน 3 องค์ที่มาคอยรับล่วงหน้า ตอน 6 โมงครึ่ง ข้าพเจ้าก็มาถึงเมืองลำพูน บ้านที่จัดให้เป็นที่พักเป็นบ้านไม้แบเก่าซึ่งมีหลังคาลาด สะอาดโอ่โถงน่าสบาย อันเป็นลักษณะก่อสร้างแบบลาวอย่างแท้จริง
(พิษณุ จันทร์วิทัน, ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง, 2546, หน้า 113)

ต่อจากนี้ สองข้างทางไม่ใช่ต้นยาง เป็นต้นขี้เหล็กปลูกเรียงรายเรื่อยไป จนถึง ก.ม.ที่ 23 ถึงก.ม.ที่ 23 เป็นตำบลเหมืองง่า ตำบลนี้เป็นตำบลใหญ่เหมือนกันในด้านค้าขาย บ้านเรือนหนาแน่นทั้งสองข้างทาง ต่อไปถึงก.ม.ที่ 24.100 ตอนต่อไปนี้เข้าเขตเทศบาลลำพูน ต่อไปราวก.ม.ที่ 24.700 ท่านมองไปทางซ้าย ท่านจะผ่านถนนเส้นหนึ่งไม่ได้ลาดยาง ถนนเส้นนี้แหละทางไปสถานีลำพูน เมื่อตรงต่อไปอีกผ่านบ้านผู้ว่าราชการจังหวัด ตลาด จนกระทั่งถึงก.ม.ที่ 27.362 เป็นสุดทางสายนี้ ตรงนั้นเรียกว่าประตูลี้ มีกำแพงเมืองลำพูน และคูเมือง มีเสาหลัก ก.ม. เขียนเลขพร้อมด้วยป้ายบอกว่า ไปลำพูน-ป่าซาง-ฉางข้าวน้อย ทางสายนี้ก่อสร้างแล้ว เวลานี้เป็นทางบำรุงที่เลข ก.ม. 0 นั้น เป็นต้นทาง คือต่อจากสาย เชียงใหม่-ลำพูน ท่านแล่นรถเลี้ยวไปตามโค้งของถนน แล้วแล่นเรื่อยไป พอถึงทางโค้งอีกตอน ที่หัวโค้งจะมีป้ายปักบอกว่าทางสาย ลำพูน-ป่าซาง-ฉางข้าวน้อย ท่านเลี้ยวไปตามลูกศรชี้นั้นได้ ถนนสายนี้ตั้งแต่ต้นจนสุดทางที่ ก.ม. 13 ถ้วน (ไม่ได้ลาดยาง เป็นถนนลงหิน)

(กรมทางหลวงแผ่นดิน, อนุสรณ์กรมทางหลวงแผ่นดิน, 2498, หน้า 196)

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น