นั่งรถไฟไปค้นหาความทรงจำที่ “ดอยขุนตาน”

DSC_6313

เสียงหวูดของขบวนรถเร็วสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ที่จอดแวะสถานีบ้านขุนตาน เป็นเสมือนสัญญาณบอกให้นักท่องเที่ยวที่ลงรถไฟสถานีนี้ว่า นี่เป็นบททดสอบเริ่มต้นของการเดินทางขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน

ว่ากันว่าในช่วงเวลาของหนุ่มสาว หากใครที่ยังไม่เคยแบกเป้เข้าป่า ขึ้นไปเที่ยวดอยขุนตานแล้วละก็ยังนับว่าไม่อาจผ่านวันเวลาแห่งการเป็นวัยรุ่นนั้นมาได้

เนิ่นนานเต็มทีที่ผู้คนชาวลำพูนและลำปางจะหาเวลาว่างช่วงวันหยุดพักผ่อนพากันนั่งรถไฟมาลงที่สถานีบ้านขุนตานเพื่อขึ้นไปสัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติของดอยขุนตาน ในอดีตที่นี่ถือได้ว่าเป็นเส้นทางเดินเท้าทางเดียวที่จะขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน ปัจจุบันสามารถนำรถขึ้นไปได้จนถึงบริเวณจุดยุทธศาสตร์1 (ย.1) ทว่าชื่อเสียงอันระบือของดอยขุนตานกลับอยู่ที่การนั่งรถไฟลอดอุโมงค์มาลงที่สถานีบ้านขุนตานซึ่งถือว่าเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

หากย้อนระลึกถึงอดีตอันขมขื่นของการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟที่มีกรรมกรชาวจีนต้องสังเวยชีวิตด้วยโรคอหิวาห์และไข้มาลาเรียเป็นจำนวนหลายพันคนแล้วนั้น การขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานหรือถ้ำขุนตานเริ่มต้นมีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2448 โดยวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ มร.อีไอเซ็นโฮเฟอร์ ซึ่งเข้ามารับราชการในกรมรถไฟหลวงเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 อุโมงค์แห่งนี้เริ่มลงมือขุดเจาะเมื่อปี พ.ศ.2450 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 11 ปี งานขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานใช้นายช่างชาวเยอรมันเกือบ 250 คน กรรมกรชาวจีน อีสานและคนพื้นเมืองอีกนับพัน ในการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตานคนงานต้องพบกับอุปสรรคอย่างมากมาย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงปัญหาเสือคาบคนงาน แม้แต่นายช่างชาวเยอรมันก็เคยถูกเสือที่เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ทำร้ายบาดเจ็บมาแล้ว การขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2461 มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 1,352 เมตร

DSC_6303จากสถานีบ้านขุนตานจะมีเส้นทางเดินเท้าขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน เส้นทางในช่วงนี้จะแคบลัดเลาะไปตามไหล่เขาค่อนข้างชัน ระยะทางประมาณ 1,300 เมตรก่อนจะถึงที่ทำการอุทยานฯจะมีจุดชมวิว ทิวทัศน์จากจุดนี้สามารถมองเห็นเทือกเขาสลับซับซ้อนสวยงามมาก

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518 ถึงวันนี้มีอายุเกือบ 30 ปี อุทยานแห่งชาติดอยขุนตานมีพื้นที่กว้างประมาณ 255 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่ทาจังหวัดลำพูนและอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

เมื่อมาถึงที่ทำการอุทยานฯนักท่องเที่ยวจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯคนละ 20 บาท เส้นทางจากนี้ไปจะเป็นทางเดินขึ้นสู่ยอดดอยในช่วงแรกจะมีทางสำหรับรถยนต์ระยะทางประมาณ 2,500 เมตรขึ้นไปจนถึงลานจอดรถจากนั้นก็เดินเท้าต่อไปยังจุดยุทธศาสตร์ที่ 1 (ย.1) เส้นทางเดินช่วงนี้จะเป็นทางขึ้นเขาที่แคบพอเดินสวนกันได้ส่วนใหญ่เป็นบันไดปูนและหิน

DSC_3882

บริเวณจุดยุทธศาสตร์ 1 (ย.1) สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 900 เมตร ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับพักแรมของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งเสด็จมาเป็นแม่งานคุมงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟขุนตาน ปัจจุบันบริเวณ ย.1 เป็นกลุ่มบ้านพักของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณนี้เราจะเห็นกลุ่มต้นสนแทรกตัวปะปนกับพันธุ์ไม้อื่นทั่วไปที่ระดับความสูง 850 – 1,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงปานกลางของดอยขุนตานที่เชื่อมต่อเนื่องระหว่างป่าผลัดใบกับป่าดิบสน

จากย.1 ขึ้นไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรถึงบริเวณ ย.2 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณนี้เป็นที่พักของบริษัทตัดไม้ หลังสงครามสงบหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีได้ซื้อพื้นที่ดังกล่าวแล้วสร้างบ้านพักส่วนตัวและทำไร่ลิ้นจี่ ไร่ดอกไม้จีนและสวนดอกไม้ ปัจจุบันบริเวณย.2 ยังมีสถานที่บรรจุอัฐิของหม่อมราชวงศ์คึกฤกธิ์ ปราโมช ตรงข้ามบ้านพัก บนย.2 มีเนินเขาปกคลุมด้วยต้นสนสองใบ เรียกว่า ลานสน เหมาะสำหรับเป็นที่กางเต็นท์พักแรมDSC_6316

จากย.2 ไปจนถึง ย.3 เส้นทางเดินไปลำบากนักเพราะบางช่วงจะเป็นที่ราบขึ้นเขาบ้างเล็กน้อย ระยะทางในช่วงนี้ประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณย.3 อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,225 เมตร เป็นกลุ่มบ้านพักของมิชชั่นนารีอเมริกันสร้างไว้หลังจากอุโมงค์ขุนตานและทางรถไฟสร้างเสร็จ ทุก ๆ ปีช่วงเดือนเมษายนจะมีกลุ่มมิชชั่นนารีเดินทางมาพักผ่อน ปัจจุบันบ้านพักดังกล่าวอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยพายัพ หากเดินต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรจะถึง ย.4 ระยะทางในช่วงสุดท้ายจะลำบากกว่าช่วงอื่น บางตอนต้องไต่ความสูงชันไปตามซอกหิน บริเวณริมทางเดินจะมีศาลาพักไว้บริการเป็นช่วง ๆ

จุดสูงสุดของดอยขุนตานหรือ ย.4 เป็นลานหินเล็ก ๆ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่าม่อนส่องกล้อง ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้ส่องกล้องทางยุทธศาสตร์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองลำปางได้ชัดเจน ทิวเขากว้างใหญ่ที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้าคล้ายดั่งปราการที่โอบล้อมธรรมชาติของที่นี่เอาไว้
หากใครที่อยากจะสัมผัสมนต์เสน่ห์ของธรรมชาติบนดอยขุนตาน สามารถติดต่อได้ที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน โทรศัพท์ 0-5351-9216, 519217

DSC_6317

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน

ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือลำพูนและลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 255.25 ตารางกิโลเมตร จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 14 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518

ลักษณะป่าของดอยขุนตาน นับว่ายังเป็นป่าที่มีอายุไม่มากเมื่อเทียบกับชั้นของหิน ในช่วงประมาณ 100 ปีที่ผ่านมาป่าในบริเวณนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากการถูกรุกรานของมนุษย์ ป่าของดอยขุนตานสามารถแยกเป็นประเภทได้ 3 ประเภทตามลักษณะความสูงของพื้นที่

ความสูงระดับต่ำ (325-850 เมตร) เป็นพื้นที่ของป่าไม้สัก ปัจจุบันกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมที่มีไผ่ผสมกับไม้ผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ

ความสูงระดับปานกลาง (850-1,000 เมตร) เป็นบริเวณที่ต่อเนื่องระหว่างป่าผลัดใบระดับต่ำกับป่าดิบและป่าสน เกิดเป็นป่าที่ผสมผสานระหว่างป่าดิบกับป่าผลัดใบ ที่นี่เราสามารถพบเห็นสนธรรมชาติที่มีอยู่เพียง 2 ชนิดในประเทศคือ สน 2 ใบและสน 3 ใบ

ความสูงระดับยอดเขา (1,000-1,373 เมตร) ป่าบริเวณนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพรรณไม้เนื้อแข็งเป็นส่วนใหญ่และมีสน 3 ใบขึ้นปะปน

นอกจากนี้บนดอยขุนตานจะพบพรรณไม้ดอกซึ่งเป็นไม้ป่าออกดอกหมุนเวียนตลอดปี เช่นกล้วยไม้นานาชนิด พืชสกุลขิงและลิลลี่ ดอยขุนตานจัดว่ามีความหลากหลายทางพฤกษชาติมากมาย กล่าวคือเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชที่มีท่อชนิดต่าง ๆ กว่า 1,300 ชนิดรวมทั้งเห็ดชนิดต่าง ๆ อีกด้วย

DSC_6327

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น