ททท. ชูอาหารไทยท้องถิ่น 25 เมนูทั่วประเทศ

DSCF0456

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชูอาหารไทยในท้องถิ่นหวังเสริมกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการเปิดตัวโครงการเสริมสร้างมาตรฐานอาหารถิ่น “สุขใจชวนกิน อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด” เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้เลือกรับประทานอาหารไทยประจำภาคและอาหารไทยยอดนิยม ที่ปรุงด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นมีรสชาติอร่อยและสะอาดถูกสุขอนามัย

โดย นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า “โครงการเสริมสร้างมาตรฐานอาหารถิ่น เป็นโครงการฯ ที่ ททท. ได้นำพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่นิยมรับประทานอาหารในท้องถิ่นเมื่อไปเยือนยังสถานที่ต่างๆ จึงหยิบยกเมนูอาหารท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคมาเป็นอีกหนึ่งสินค้าทางการท่องเที่ยว โดยคัดเลือก 25 เมนู จาก 5 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ได้แก่ ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว แกงฮังเล ลาบคั่ว น้ำพริกหนุ่มและไส้อั่ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ซุบหน่อไม้ ไส้กรอกอีสาน แกงอ่อม ลาบเป็ด ไก่ย่าง ภาคกลาง ได้แก่ น้ำพริกกะปิ หลน ปลาดุกผัดเผ็ด แกงฉู่ฉี่ แกงคั่ว ภาคตะวันออก ได้แก่ หมูชะมวง ไก่บ้านต้มระกำ ปลากะพงทอดน้ำปลา เส้นจันท์ผัดปู น้ำพริกไข่ปู และภาคใต้ ได้แก่ แกงส้ม(แกงเหลือง) แกงไตปลา คั่วกลิ้ง ผัดสะตอ น้ำพริกกุ้งเสียบ”

นอกจากนี้ ทาง ททท. ยังได้คัดเลือกอีก 6 เมนู ซึ่งเป็นเมนูอาหารไทยยอดนิยมจากโครงการ อะเมสซิ่ง ไทย เทสต์ (Amazing Thai Taste) ได้แก่ ผัดไทย ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น ส้มตำ และแกงเขียวหวาน โดย ททท. จะมอบตราสัญลักษณ์ “สุขใจชวนกิน อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด” ให้กับร้านอาหารที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดทั้งวัตถุดิบ รสชาติ และความสะอาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นได้ใจว่า “จะได้รับประทานอาหารไทยที่มีความอร่อย รสชาติแบบดั้งเดิมและถูกสุขลักษณะ”

ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่ในการดำเนินโครงการไว้ทั้งสิ้น 29 จังหวัด แบ่งเป็น เมนูอาหารท้องถิ่น 5 ภาค ดำเนินการในพื้นที่ “12 เมืองต้องห้าม … พลาด” และ”12 เมืองต้องห้าม…พลาดพลัส” รวม 24 จังหวัด ในส่วนของเมนูอาหารไทยยอดนิยมนั้น ดำเนินการใน 5 จังหวัดหลักทางการท่องเที่ยว ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดขอนแก่น , จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพฯ

ซึ่ง นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางสถาบันอาหาร ได้พิจารณาร่วมกับ ททท. ในการแต่งตั้งคณะกรรมการตัดสิน โดยแบ่งออกเป็นคณะกรรมการส่วนกลาง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน พร้อมนักวิชาการจากสถาบันอาหาร ทำการตรวจร้านอาหารในพื้นที่โครงการฯ เพื่อตัดสินอาหารท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณามาจาก 5 หัวข้อหลัก คือ 1. สุขอนามัยและความปลอดภัย 2. คุณค่าวัตถุดิบท้องถิ่นไทย 3. รสชาติ 4.เนื้อสัมผัส และ 5. การนำเสนออาหาร โดยร้านอาหารที่ผ่านการตัดสินจะได้รับใบรับรองมาตรฐานอาหารจาก ททท. ตุ๊กตาน้องสุขใจ พร้อมสติ๊กเกอร์ตราสัญลักษณ์โครงการฯ”
ทั้งนี้ คณะกรรมการ จะเริ่มลงพื้นที่พิจารณาตัดสินอาหารทั้ง 31 เมนู 29 จังหวัด ในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2559 ประกาศผลการตัดสินและมอบประกาศนียบัตรในเดือนตุลาคม 2559 โดย ททท. คาดว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยว ได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่นผ่านอาหารประจำภาคที่มีรสชาติอร่อยแบบดั้งเดิมและปลอดภัย

ขุน ราตรี
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น