แอ่วกว๊านพะเยา นมัสการ “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปเชียงแสน ที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา

__5_840[1]” กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งามลือเลื่องดอยบุษราคัม ” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดพะเยา ที่บ่งบอกถึงบึงกว๊านอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งวิถีชีวิตของชาวบ้านริมกว๊านพะเยา ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าตนหลวง พ่อขุนงำเมือง และความงดงามของดอยบุษราคัม

กว๊านพะเยา แหล่งน้ำจืดกว้างใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และ อันดับ 3 ของประเทศไทย รองจาก หนองหาน และ บึงบอระเพ็ด คำว่า “กว๊าน” ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง “บึง” เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากหลัง อันเกิดจากน้ำที่ไหลมาจากห้วยต่าง ๆ ถึง 18 สายด้วยกัน มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพันธ์ปลาน้ำจืดกว่า 48 ชนิด มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาต่าง ๆ มีทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา ที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ทำให้ฮอตติดอันดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่สวยงามประทับใจผู้พบเห็น จนอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่กว๊านพะเยานี่เอง

IMG_0806[1]

รอบ ๆ ริมกว๊านพะเยา จะเป็นร้านอาหารและสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ กว๊านพะเยาในอดีตแต่เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีสายน้ำอิงไหลพาดผ่านคดเคี้ยวทอดเป็นแนวยาวไปตลอด จากทิศเหนือจรดขอบกว๊านทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับมีหนองน้ำน้อยใหญ่หลายแห่งและร่องน้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากขุนเขาดอยหลวง แล้วเชื่อมติดต่อถึงกัน ทำให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักและมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นชุมชนนานนับตั้งแต่โบราณ

เล่ากันว่า ก่อนปี พ.ศ. 2484 ในช่วงฤดูแล้ง กว๊านพะเยาจะมีสภาพเป็นบึงและมีหนองน้ำอยู่รอบ ในฤดูฝนน้ำในกว๊านจึงจะมีมาก ปริมาณน้ำจะมีมากที่สุด ทำให้บวกและหนองที่อยู่ติด ๆ กัน มีน้ำล้นไหลบรรจบกันเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่สองผืน ผืนแรกเรียกว่า “กว๊านน้อย” อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นร่องลำรางน้ำขึ้นไปขาน้ำแม่ตุ่น และเยื้องไปหาชายบ้านสันเวียงใหม่ ตอนที่สองเรียกว่า “กว๊านหลวง” อยู่ทางทิศตะวันออก ใกล้กับลำน้ำแม่อิงฝั่งขวา มีร่องผ่านกลางเชื่อมติดกัน ชาวบ้านเรียกลำรางนี้ว่า “แม่ร่องน้อยห่าง” บริเวณรอบกว๊านจะมี บวก หนอง อยู่รอบ ๆ กว๊าน และมีลำรางน้ำเชื่อมติดต่อกันตลอดกับแม่น้ำอิง เรียกว่า “ร่องเหี้ย” ไหลเชื่อมกว๊านหลวงกับแม่น้ำอิง ร่องน้ำ หนอง บวก บริเวณรอบกว๊าน และร่องน้ำที่เป็นแม่น้ำลำธารที่ไหลมาจากภูเขาเรียกลำห้วย เมื่อพ้นฤดูฝนปริมาณน้ำจะลดลงเรื่อย ๆ เหลืออยู่แต่ลำคลองหรือแม่น้ำที่ไหลลงสู่กว๊านน้อย กว๊านหลวง และตาม บวก หนอง ร่องน้ำต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนฝั่งกว๊านทางทิศใต้และทิศเหนือน้ำจะแห้งขอด ในพื้นที่รอบกว๊านจะมีชุมชนและวัด ตั้งอยู่เป็นจุด ๆ มีระยะทางห่างกันประมาณ 1-2 กิโลเมตร ชาวบ้านสามารถเดินจากชุมชนเหล่านี้เลาะลัดไปตามแนวสันดิน เพื่อติดต่อระหว่างชุมชนต่าง ๆ และเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ชาวบ้านได้อาศัยน้ำจากหนอง ลำห้วยต่าง ๆ ในการอุปโภคและบริโภค การหาปลาจากแหล่งน้ำต่าง ๆ จากลำห้วย หนอง และบวกในบริเวณกว๊าน

IMG_0810[1]ในการก่อสร้างทำนบ และประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำอิงนั้น กรมประมงได้เล็งเห็นว่า หนองกว๊านในช่วงฤดูแล้งจะแห้งขอด ชาวบ้านจึงได้พากันมาจับสัตว์น้ำโดยไม่มีการควบคุม นอกจากนี้หนองยังมีความตื้นเขินทุกปี เนื่องจากโคลนตมที่ถูกชะล้างมาจากการทำนาในบริเวณรอบ ๆ กว๊าน ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2482 กรมประมงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ บริเวณด้านระวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมือง แล้วเสร็จในปี 2484 ทำให้น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน วัด โบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ เสียหายเป็นจำนวนหลายันไร่ หนองน้ำธรรมชาติเปลี่ยนไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ย 17–18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณกว่า 12,000 ไร่

หลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี มีความเห็นว่า “กว๊าน” คือ “กว้าน” เพราะกว้านเอาน้ำจากห้วยหนอง คลอง บึง และแม่น้ำลำธารต่าง ๆ มารวมไว้ในที่แห่งเดียว ในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ตะวันออกเฉียงเหนือว่า “กว้าน” ความหมายหนึ่ง หมายถึง ศาลากลางบ้าน หอประชุม สถานที่เหล่านี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกัน

คำว่า “กว๊าน” ในชื่อ “กว๊านพะเยา ” หมายถึงหนองน้ำหรือ บึงน้ำขนาดใหญ่ คำนี้มีใช้ในท้องถิ่นล้านนา เฉพาะที่จังหวัดพะเยาแห่งเดียวเท่านั้น

สรุปว่า “กว๊าน” มีความหมายว่า เป็นที่รวมศูนย์ของสิ่งสำคัญของชุมชนและบ้านเมืองอย่างเดียวกับคำว่า “กว๊าน” อันเป็นที่รวบรวมน้ำที่ไหลจากแหล่งน้ำต่าง ๆ และที่เรียกว่า “กว๊าน” คือถือตามสำเนียงเสียงพูดของชาวพะเยา
นักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางไปเที่ยวกว๊านพะเยาทุกครั้ง สิ่งที่จะลืมไม่ได้มักจะแวะนมัสการ “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยา ซึ่งอยู่ติดกว๊านพะเยา เพื่อเป็นสิริมงคลIMG_0807[1]

“พระเจ้าตนหลวง” หรือ “พระเจ้าองค์หลวง”มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย

“พระเจ้าตนหลวง” เป็นพระประธานเก่าแก่ในพระวิหารหลวง ประดิษฐาน ณ วัดศรีโคมคำ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร และสูง 16 เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมกับปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และในเดือนหกของทุกปีจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง
วัดศรีโคมคำ หรือ วัดพระเจ้าตนหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญได้สร้างมานานพร้อมกับการสร้างพระเจ้าตนหลวง เมื่อประมาณ พ.ศ.2034 โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ในสมัยนั้นเจ้าอาวาสองค์แรกที่ปรากฎในตำนาน คือ พระธรรมปาล ท่านผู้นี้ได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่คือ ได้เขียนตำนานพระเจ้าตนหลวงออกเผยแพร่แก่ประชาชน

__9_155[1]ต่อมาอีกประมาณ 404 ปี จุลศักราช 1219 (พ.ศ. 2400) พระกัปปินะ เป็นเจ้าอาวาสอีกครั้งหนึ่ง มีบันทึกหนังสือสมุดข่อยไว้ว่า แสนทักษิณะเยนดวงชะตาพระเจ้าตนหลวง มีพระธรรมปาลเขียนไว้มาให้ท่านได้รับทราบว่าวัดศรีโคมคำเป็นวัดมาแต่โบราณกาล แต่มาในยุคหลังบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงคราม ทำให้บ้านเมืองอยู่ไม่เป็นปกติสุขต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามหัวเมืองที่ ปลอดภัยจากข้าศึก ทำให้บ้านเมือง วัดวาอารามรกร้างว่างเปล่าไป ต่อมาภายหลังได้สถาปนาเมืองพะเยาขึ้น จึงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามลำดับ

วัดศรีโคมคำได้เริ่มก่อสร้างพระวิหารครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2465 มีพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองคือ พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา และหลวงสิทธิประศาสน์ (คลาย บุษบรรณ) นายอำเภอเมืองพะเยาคนแรก ได้ร่วมกันไปอาราธนาท่านครูบาศรีวิชัย จากจังหวัดลำพูนมาเป็นประธาน นั่งหนักในการก่อสร้างพระวิหารหลวงและเสนาสนะต่าง ๆ จนสำเร็จบริบูรณ์ โดยพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ เป็นองค์แรก ปัจจุบันมี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานยกฐานะขึ้น เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2523

IMG_0800[1]ภายในบริเวณวัดศรีโคมคำ มีพระอุโบสถกลางน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยา เป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นโดยศรัทธาประชาชน ซึ่งบริษัท มติชนจำกัด โดยคุณขรรค์ชัย บุนปาน เป็นผู้ประสานงาน คุณนิยม สิทธิหาญ มัณฑนากรจากมหาวิทยาลัยศิลปกร และคุณจินดา สหสมร สถาปนิกจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยร่วมกันออกแบบ มีนายช่างเถา พัฒนโภสิน เป็นช่างก่อสร้าง ดำเนินการจนแล้วเสร็จ คิดเป็นเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 3,600,000 บาท (สามล้านหกแสนบาทถ้วน) มีจิตรกรรมฝาผนัง เขียนโดย คุณอังคาร กัลยาณพงษ์ เป็นผู้เขียนภาพต้นโพธิ์ด้านหลังพระประทานและ นางสาวภาพตะวัน สุวรรณกูฏ และนางสาวกาบแก้ว สุวรรณกูฏ เขียนภาพทศชาติ และศิลปะผสม

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น