เรื่องเล่าบรรจุภัณฑ์ จากธรรมชาติสู่อุตสาหกรรม และกลับมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

20160819_155750

นับตั้งแต่การประยุกต์วัสดุจากธรรมชาติ สู่การมาถึงของระบบอุตสาหกรรม และการพลิกกลับสู่แนวคิดอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ไม่เพียงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องชี้วัดเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานออกแบบสร้างสรรค์ที่สอดรับ และส่งสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนแต่ละยุคสมัยอีกด้วย

เนื้อหาต่อจากนี้ จะพาคุณไปรู้จักกับพัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ยุคสมัยที่คนไทยเริ่มรู้จักบรรจุภัณฑ์อาหาร ไปถึงห้วงเวลาปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเริ่มตระหนักถึงความยั่งยืนในอนาคต

ห้วงที่ 1 จากวัสดุธรรมชาติสู่รุ่งอรุณของ ระบบอุตสาหกรรม พ.ศ. 2490 – 2520

ช่วงปี พ.ศ. 2490 – 2520 ถือเป็นยุคที่ยังไม่ค่อยมีการพัฒนา ในด้านอุตสาหกรรมอาหารมากนัก ผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่เป็นการประยุกต์จากวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว และการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เริ่มมีการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อีกทั้งมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เชื่อมท้องถิ่นต่างๆในประเทศเข้าด้วยกัน เกิดการใช้ทดแทนและผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาของบรรจุภัณฑ์ท้องถิ่น และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง

ก่อนปี 2490 วัฒนธรรมด้านอาหารของคนทั่วไปในเมืองไทยยังไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นการประกอบอาหารเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัว หรือทำขึ้นเฉพาะช่วงงานเทศกาลหรือประเพณีสำคัญทางศาสนา ซึ่งชาวบ้านจะนิยมใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบจาก ใบบัว หรือไม้ไผ่ เป็นต้น

หลังปี 2490 หรือช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่ม มีการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมในประเทศไทย และมีการนำเข้าสินค้าสมัยใหม่หลายชนิดเข้ามาในประเทศไทยเรามากขึ้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เริ่มมีพัฒนาการและมีความหลากหลาย อาทิ น้ำอัดลมบรรจุขวดแก้ว นมผงกระป๋อง เป็นต้น

737dbc9a-8203-4173-9f07-147f3dbae51d

ปี 2500 มีการนำเข้าของอุตสาหกรรมพลาสติกกลุ่ม พีวีซี (Polyvinylchloride) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน

ปี 2504 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคต่างๆ ในแผนฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจของฝากและของที่ระลึกนานาชนิด เช่น ร่มบ่อสร้าง ไม้แกะสลัก ผ้าทอพื้นเมือง แต่ธุรกิจของฝากก็ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงอาหาร เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์อาหารที่ช่วยในการเก็บรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์เท่าที่ควร

ห้วงที่ 2 ยุคแห่งอุตสาหกรรมพลาสติกและการเฟื่องฟูของการผลิตภายในประเทศ พ.ศ. 2520 – 2540

การเปิดสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2510 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ในช่วงหลังปี 2520 เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีปิโตรเคมีและพลาสติกขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมา พลาสติกจึงกลายมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร กลายมาเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยืดอายุของอาหารได้ยาวนาน รวมทั้งเอื้ออำนวยในการขนส่ง กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ต่ออุตสาหกรรมอาหารการกินในช่วงเวลาต่อมา

ปี 2520 ผลพวงจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมจนโรงงานภายในประเทศสามารถผลิตพลาสติกใช้ได้เอง ส่งผลให้เกิดบรรจุภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากพลาสติกหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น พลาสติกประเภทโลเอทีลีน (พีอี – PE) ที่นำมาใช้ผลิตเป็นถุง ขวด หรือกล่องพลาสติกหลากหลายรูปแบบ ทั้งยังสามารถบรรจุของเย็น เข้าตู้เย็น และเข้าห้องแช่เย็นได้

ปี 2523 จากการพัฒนาสาธารณูปโภคซึ่งนำมาสู่การเดินทางไปภูมิภาคต่างๆ ได้สะดวกขึ้น จึงเริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า นำมาสู่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์กับการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีปริมาณมาก “กล่องกระดาษ” จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตั้งแต่นั้น เนื่องจากกล่องกระดาษมีความแข็งแรงทนทาน ปกป้องผลิตภัณฑ์ได้ดี และสะดวกต่อการขนส่งและเคลื่อนย้าย

20160819_155850

ปี 2525 เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมครัวเรือนขนาดเล็กและขนาดกลาง ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์พลาสติก อาทิ ธุรกิจผลิตแหนม หมูยอ หรือน้ำพริก เห็นได้ชัดเจนคือธุรกิจ แหนมป้าย่น ที่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากใบตองมาเป็นถุงพลาสติก ในปี พ.ศ. 2528 และตลอดสองทศวรรษนับจากนั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงผ่านการบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติมาเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างเต็มรูปแบบ

c7df98ee-5430-4ba7-b453-fabf3df2fc3e
ห้วงที่ 3 ยุคของความคิดสร้างสรรค์และการตื่นตัวต่อสภาพแวดล้อม
พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน

นับจากปี 2540 เป็นต้นมา ในทุกภาคส่วนของธุรกิจล้วนเข้าถึงเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทันสมัย และตอบโจทย์กับความต้องการอย่างแพร่หลาย การออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงไม่ได้คิดเพียงแค่เป็นภาชนะบรรจุ หรือรักษาผลิตภัณฑ์อาหารอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงการเป็นเครื่องมือการตลาดจากการออกแบบให้มีความสวยงาม เพื่อดึงดูดให้น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่เริ่มมีการตื่นตัวในด้านสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ยังมีบทบาทในกระแสดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

79a13d30-7acb-4953-a144-ffca95ecc27c

บี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ธุรกิจหลายรายทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างล้มละลาย จึงเกิดนโยบายที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก และการเน้นธุรกิจบริการการท่องเที่ยว อย่างโครงการ Amazing Thailand และ Unseen Thailand หรือโครงการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่าง “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ OTOP ซึ่งนำมาสู่การหันกลับมาใส่ใจในอัตลักษณ์ดั้งเดิมของท้องถิ่น อันครอบคลุมไปถึงวิธีคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วย ทั้งในส่วนของการเลือกใช้วัสดุ รูปทรง หรือรูปแบบความสวยงาม เป็นต้น

20160819_155909

ปี 2541 การพัฒนาของเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหาร ยังรวมไปถึงการพัฒนาโฟมที่เราคุ้นเคย จากการเป็นบรรจุภัณฑ์ป้องกันกระแทกในเครื่องใช้ไฟฟ้า มาเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีน้ำหนักเบา สะดวก และมีราคาถูก นับตั้งแต่นั้นภาชนะจากโฟมจึงกลายมาเป็นบรรจุภัณฑ์ยอดนิยมในธุรกิจอาหารขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยเฉพาะในหมู่ของร้านอาหารตามสั่งที่สอดรับกับวิถีชีวิตอันเร่งรีบของคนชั้นกลางในเมือง

ปี 2544 เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟิ้นตัว การแข่งขันทางธุรกิจกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง รวมทั้งการขยายตัวของสินค้าท้องถิ่นที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในภูมิภาคอีกต่อไป อาหารแปรรูปที่เดิมจำหน่ายอยู่แค่ในตลาดสด ก็กลับมีพื้นที่การจัดจำหน่ายใหม่ๆ เช่น ภายในร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย จากการแข่งขันทางธุรกิจอันเข้มข้นเช่นนี้ รูปแบบของบรรจุภัณฑ์จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขัน นอกเหนือไปจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการทำการตลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในยุคนี้จึงถือเป็นยุคสมัยที่มีการเลือกใช้วัสดุที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ รวมทั้งการออกแบบที่โดดเด่นสวยเก๋ และความพยายามในการบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าให้เป็นที่น่าจดจำ

ปี 2546 มีการเปิดตัว อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่จำหน่ายตามร้านละดวกซื้อ ซึ่งสอดรับกับยุคสมัยที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วของสังคมเมือง นั่นจึงเป็นยุคสมัยที่กล่องพลาสติกประเภท Polyethylene Terephthalate (PET) หรือ Polypropylene (PP) ซึ่งสามารถทนความร้อนและนำไปเข้าไมโครเวฟได้ เข้ามามีบทบาทสำคัญไม่แพ้บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทโฟม ขณะเดียวกันเทคโนโลยีอาหารยังครอบคลุมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยในการถนอมอาหารไว้ในระยะยาวได้ เช่น พลาสติกคุณภาพดีในการเก็บรักษาไส้อั่ว น้ำพริก หรืออาหารแปรรูปอื่นๆ รวมทั้งเทคโนโลยีอาหารบรรจุกระป๋องที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เป็นต้น

20160819_155915

ปี 2549 เป็นยุคสมัยที่โลกเริ่มตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อน อันเป็นผลพวงจากลัทธิบริโภคนิยมและการเฟื่องฟูถึงขีดสุดของระบบอุตสาหกรรมในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของสำนึกในการใช้วัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากกระดาษชานอ้อยขึ้นมาทดแทนกล่องโฟมที่ไม่อาจย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือถุงพลาสติกผสมสารชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว ในเชิงการออกแบบจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการและนักออกแบบหลายรายก็เริ่มใช้วิธีการลดสัดส่วนของวัตถุดิบในการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นการลดต้นทุน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ต้องยอมรับว่าบรรจุภัณฑ์ถือเป็นสิ่งสิ้นเปลือง เพราะบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่มีไว้เพื่อจะรอถูกทิ้ง ด้วยเหตุนี้หากเราสามารถลดการใช้วัสดุได้ เพื่อประหยัดทรัพยากรและพลังงาน อาทิ การออกแบบเพื่อให้ใช้กระดาษน้อยลง หรือทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก รวมถึงการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระดาษรีไซเคิล หรือหมึกพิมพ์จากถั่วเหลือง ก็จะสามารถทำให้ทั้งขั้นตอนการผลิตสินค้าและตัวบรรจุลดความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีทางการตลาดอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น