“เด็กวิจิตรสร้างฝาย เพื่อฟื้นคืนผืนป่าให้มีน้ำใช้”

B-3.jpg
สโมสรนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย คณะสงฆ์ตำบลแม่แรม เทศบาลตำบลแม่แรม และชาวหมู่บ้านลุ่มน้ำแม่สา ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่จัดกิจกรรม “เด็กวิจิตรสร้างฝาย เพื่อฟื้นคืนผืนป่าให้มีน้ำใช้”เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2559 ณ น้ำตกแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
รศ. ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า กิจกรรม “เด็กวิจิตรสร้างฝาย เพื่อฟื้นคืนผืนป่าให้มีน้ำใช้” เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม โดยการร่วมกันปลูกป่า และสร้างฝายกักเก็บน้ำ ทั้งนี้เพื่อชะลอการไหลของน้ำในช่วงฤดูฝน เป็นการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาเหมืองฝายล้านนาให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน ช่วยให้ผืนป่าได้มีต้นไม้เพิ่มขึ้นเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงเรือกสวนไร่นา มีฝายไว้ซับน้ำในช่วงฤดูแล้งไหลสู่แม่น้ำและลำเหมืองไว้ใช้ตลอดปี
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย หน่วยพิทักษ์ที่ 3 น้ำตกแม่สา คณะสงฆ์ตำบลแม่แรม เทศบาลตำบลแม่แรม กำนันผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องประชาชนหมู่บ้านลุ่มน้ำแม่สา ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ที่ตระหนักถึงความสำคัญของลำน้ำแม่สา ซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย บริเวณ ต.โป่งแยง ต.แม่แรมไหลรวมกันไปสายธารลงสู่น้ำแม่ปิง อันเป็นแหล่งน้ำด้านการเกษตร อุปโภคและบริโภคสายใหญ่ในอำเภอแม่ริม
อีกทั้งบริเวณลุ่มน้ำแม่สายังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ มีลำเหมืองโบราณชื่อ เหมืองเจ้า หรือเหมืองพระราชชายาเจ้าดารารัศมีไหล่หล่อเลี้ยงผู้คนและการเกษตรมาแต่ครั้งโบราณ ในปัจจุบันการใช้น้ำลุ่มน้ำแม่สามีจำนวนมากในช่วงฤดูแล้งอาจไม่เพียงพอกับการแจกจ่ายน้ำทำการเกษตรและประปา
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 200 คน โดยได้ร่วมกันปลูกกล้าไม้ จำนวน 200 ต้น และสร้าง ซ่อมแซม ขุดลอกฝาย จำนวน 5 ฝาย ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ บริเวณน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ก็คือ นักศึกษาได้ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ประสบการณ์ และความสามัคคีในหมู่คณะ นักศึกษาและชุมชนได้ร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าให้เป็นแหล่งน้ำ อีกทั้งยังได้ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน เพื่อให้คงอยู่สืบต่อไป
PR คณะวิจิตรศิลป์ รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น