ชาวสวนลำไยแนะรัฐ ประกันราคาผลผลิต กระจายจุดรับซื้อเพิ่ม

b.3แม่โจ้โพลล์เผยผลสำรวจความเห็นเกษตรกรชาวสวนลำไย ระบุภัยแล้งฉุดผลผลิตลดฮวบ แนะภาครัฐป้องกันพ่อค้าคนกลางกดราคา พร้อมกับมีการประกันราคาผลผลิตลำไย การกระจายจุดรับซื้อผลผลิตให้เพียงพอ

ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ มีพื้นที่ปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน และตาก ส่วนใหญ่เป็นการผลิตแบบในฤดู ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี ผลผลิตลำไยนอกจากจะจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ยังส่งออกในลักษณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ลำไย ขณะที่ตลาดส่งออกลำไยสดที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง เวียดนาม แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ส่วนลำไยอบแห้งมีตลาดใหญ่ที่สุด คือ ฮ่องกง และจีน

โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออก ลำไยสด 9,752 ล้านบาท ลำไยอบแห้ง 5,426 ล้านบาท ลำไยแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ลำไย 635 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 15,813 ล้านบาท แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และพะเยา ที่ประสบกับภัยแล้งอย่างรุนแรง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานหลายเดือน เกษตรกรขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะที่ผลลำไย (ในฤดูกาล) กำลังเจริญเติบโต ทำให้ดอกและผลลำไยร่วงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในบางพื้นที่มีการขาดน้ำอย่างรุนแรง จนต้นลำไยบางส่วนเกิดความเสียหายและยืนต้นตาย

ดังนั้นศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จำนวน 604 ราย ในภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ 41.56% ลำพูน 25.33% เชียงราย 16.39% และพะเยา 16.72% ในหัวข้อ “สถานการณ์การผลิตและราคาลำไยภาคเหนือ ปี 59” เมื่อไม่นานมานี้เพื่อสำรวจปัญหาด้านการผลิตลำไยของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา และสถานการณ์ด้านราคาลำไยในฤดูประจำปี 2559 นี้

โดยผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือ ประสบปัญหาในการผลิตลำไย ได้แก่1. สภาพอากาศแปรปรวน เช่น ร้อนมากและมีฝนตก เป็นต้น 82.78% 2. ขาดแคลนน้ำ 73.00% 3. ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ คือลูกมีขนาดเล็ก 54.47% 4. ราคาปัจจัยการผลิตมีราคาสูง 45.53% 5. ประสบปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด 40.56% และ 6. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการดูแลรักษา 30.63%

ทั้งนี้จากสภาพปัญหาข้างต้นส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือ 50.25% เห็นว่าผลผลิตลำไยปีนี้จะลดลง, 25.95% ยังไม่แน่ใจ, ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18.97% และ 4.83% ไม่มีผลผลิต เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณผลผลิตในแต่ละจังหวัด พบว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรมีผลผลิตลดลงมากที่สุด 67.74%
สำหรับการคาดการณ์ราคาลำไยโดยจำแนกตามรูปแบบการขาย ได้ดังนี้ 1) ประเภทลำไยร่วง เกรด AA ราคาเฉลี่ย 31 บาทต่อกิโลกรัม เกรด A ราคาเฉลี่ย 21 บาทต่อกิโลกรัม เกรด B ราคาเฉลี่ย 10 บาทต่อกิโลกรัม และเกรด C ราคาเฉลี่ย 4 บาทต่อกิโลกรัม 2) ประเภทมัดช่อใส่ตะกร้า ราคาเฉลี่ย 38 บาทต่อกิโลกรัม และ 3) ประเภทเหมาสวน ราคาเฉลี่ย 21,958 บาทต่อไร่ และเมื่อสอบถามถึงรายได้จากการขายผลผลิตลำไยในปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือ ร้อยละ 52.01 คิดว่าจะมีรายได้ลดลง โดยให้เหตุผลว่าผลผลิตลดลงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ร้อน และขาดแคลนน้ำส่งผลให้ผลผลิตลดลง รองลงมาคือ ร้อยละ 24.58 คือ ไม่แน่ใจ และร้อยละ 23.41 คิดว่ารายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนข้อเสนอแนะของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือด้านการตลาดและราคา ได้แก่ 1) เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐมีการประกันราคาผลผลิตลำไย เพื่อป้องกันการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง 2) ควรมีการกระจายจุดรับซื้อผลผลิตให้เพียงพอ และขยายตลาดเพื่อการส่งออกลำไยให้มากขึ้น 3) ควรกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 4) ช่วยอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา ให้มีราคาถูกลง และ 5) ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเพื่อสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตลำไยด้วย

จากผลสำรวจจะเห็นพบว่าการคาดการณ์ราคาลำไยในปีนี้จะค่อนข้างสูง แต่ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่น อากาศร้อนและขาดแคลนน้ำ ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือเป็นอย่างมาก เกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาผลผลิตลำไยได้รับความเสียหายคือ ติดผลน้อยและมีขนาดเล็ก ทำให้รายได้จากการขายลำไยในปีนี้ลดลงตามไปด้วย เกษตรกรผู้ปลูกลำไยจึงต้องการให้ภาครัฐมีการประกันราคาผลผลิตลำไย การกระจายจุดรับซื้อผลผลิตให้เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางและช่วยให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากราคาลำไยที่สูงขึ้นอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น