ช่างหล่อ กลุ่มสุดท้ายของเชียงใหม่

DSC_6434 หากจะนับรับเอางานหล่อพระพุทธรูปของชาวบ้านช่างหล่อเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติแล้วปล่อยให้งานอาชีพ อันเป็นหลักฐานสำคัญทางด้านวัฒนธรรมเหล่านี้สูญสลายไปด้วยเหตุผลทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ก็อาจจะไม่มีใครรู้จักการหล่อพระพุทธรูปกันอีกต่อไป

ภาพของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าบรรจบแต่งแต้มขี้ผึ้งลงบนหุ่นปั้นพระพุทธรูป เป็นเวลากว่า 3 วันแล้วที่พ่ออินสอน แก้วดวงแสง สล่าบ้านช่างหล่อผู้มีอาชีพหล่อพระพุทธรูป สาละวนกับงานเบื้องหน้าอยู่ภายในศาลาไม้ ที่ดัดแปลงให้เป็นโรงหล่อพระ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาระกิจประจำวันที่จะต้องปฏิบัติ

หากจะนับรับเอางานหล่อพระพุทธรูปของชาวบ้านช่างหล่อเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติแล้วปล่อยให้งานอาชีพ อันเป็นหลักฐานสำคัญทางด้านวัฒนธรรมเหล่านี้สูญสลายไปด้วยเหตุผลทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ก็อาจจะไม่มีใครรู้จักการหล่อพระพุทธรูปกันอีกต่อไป

ในอดีตการหล่อพระพุทธรูป เป็นวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของคนล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ชุมชนบ้านช่างหล่อ ต.หายยา จังหวัดเชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นชุมชนเดียวที่มีการหล่อโลหะขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนแล้วเกิดจากศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอันเป็นผลให้เกิดรูปธรรมในงานหัตถศิลป์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้ปรากฏเป็นหลักฐานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

DSC_6435ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่พระเจ้ากาวิละรวมกับพระยาจ่าบ้านได้ทรงขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ. 2339 แล้วทรงรวบรวมไพร่พลไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยอง เมืองล่า เมืองมาง เมืองสาตร เมืองเชียงตุงรวมถึงสิบสองปันนาในจีน ทำการกวาดต้อนผู้คนให้เข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ อันถือเป็นยุคของการ “ฟื้นม่าน” หมายถึงการเข้าไปดึงเอาชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่อย่างเป็นอิสระรอบเชียงใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของตน หรืออาจจะเรียกได้อีกชื่อว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งมีข้อความปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เมื่อครั้งที่เจ้าอุปราชธรรมลังกายกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเมื่อปีพ.ศ. 2348 ว่า…พระองค์เฮาบ่ใช่ว่าจักมา ฟันเมืองหื้อเป็นป่าบ่มี พระองค์เฮาจักมาฟันป่าหื้อเป็นเมือง จักปลูกแปลงยังสันฐานเขตน้ำหนังดิน ในล้านนา 57 หัวมืองตามบุพทำนองมหากษัตริย์เจ้า อันแต่งแปลงในกาลเมื่อก่อนแล..

หลังจากที่กวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่าง ๆ มาไว้ในเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากาวิละได้ให้ผู้คนที่กวาดต้อนมาจากเมืองยองไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลำพูน ส่วนเมืองสาตรให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง ชาวเมืองมางให้ตั้งถิ่นอยู่ทิศใต้ของกำแพงเมือง โดยให้ผู้ที่มีความรู้งานสล่าต่างกระจายกันอยู่ตามชุมชนระแวกใกล้กับประตูเชียงใหม่ ดังนั้นเราจึงพบว่าบริเวณทางทิศใต้ของตัวเมืองหรือประตูเชียงใหม่จะมีชุมชนฝีมือต่าง ๆ อาศัยอยู่เช่น ช่างเงิน ,ช่างแต้ม ,ช่างฆ้อง ,ช่างหล่อ เป็นต้น โดยเฉพาะชุมชนบ้านช่างหล่อปัจจุบันถือได้ว่าเหลืออยู่เพียงกลุ่มสุดท้ายก็ว่าได้

DSC_6437ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง สืบทอดฝีมือการหล่อมาจากพ่ออินสอน ผู้เป็นบิดากล่าวถึงอาชีพการหล่อพระพุทธรูปว่า
“..เมื่อเกิดมาก็เห็นคนในครอบครัวทำอาชีพหล่อพระแล้ว สมัยเด็กก็เคยช่วยพ่อทำการหล่อยู่ หลังจากนั้น ได้เข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพ จนระยะหลังพ่อเริ่มแก่ทำไม่ไหว ตนจึงกลับมาบ้านช่วยครอบครัวทำ”

ชัยรัตน์ ยังเป็นเสมือนตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอาชีพดั่งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันในชุมชนบ้านช่างหล่อเหลือทำอยู่เพียง 4 ครอบครัวเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องกันเดียวกัน ซึ่งถ้าหมดผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นนี้ไปแล้วโดยที่ยังไม่มีการสืบทอด ก็น่าเป็นห่วงอนาคตของช่างหล่อเหล่านี้ว่าจะยังมีคงมีการทำอาชีพนี้ต่อไปอีกหรือไม่

การหล่อพระของชุมชนบ้านช่างหล่อถือได้ว่าเป็นงานฝีมือที่ใช้เวลาในการทำนานหลายวัน โดยเฉพาะถ้าวันไหนอากาศครึ้มหรือฝนตกก็ไม่สามารถทำการหล่อได้ พ่ออินสอนเล่าถึงขั้นตอนการหล่อพระของที่นี่ว่า ขั้นแรกสุดคือจะต้งทำการขึ้นรูปหุ่นดินเป็นองค์ก่อน จากนั้นนำขี้ผึ้งมาติดและตกแต่งลวดลายให้เรียบร้อย ในขั้นตอนนี้ถือได้ว่าสำคัญที่สุด เพราะรูปขี้ผึ้งที่ตกแต่งลวดลายเสร็จจะเป็นแบบของการหล่อ เมื่อได้แบบพระพุทธรูปจากขี้ผึ้งแล้วก็จะนำขี้วัวผสมดินนวลทาให้ทั่วหุ่นขี้ผึ้งประมาณ 3 รอบ แล้วจึงนำดินอ่อนมาพอก รอให้แห้ง 3 วันพร้อมกับพอกดินแกลบแก่ เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้แล้วจึงนำไปย่างไฟอ่อน ๆ เพื่อให้ขี้ผึ้งข้างในละลายออกมา จากนั้นจึงสุมไฟเผาให้หุ่นข้างในดินสุก ในการเผาดินใช้เวลาประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง สังเกตุว่าถ้าไม่มีควันออกมาจากรู แสดงว่าดินข้างในสุกแล้ว
จากนั้นจึงนำหุ่นดินที่เผาจนสุกนำมาฝังดินโดยให้ส่วนหัวพระพุทธรูปฝังลงใต้ดิน เอาส่วนฐานขึ้นข้างบน แล้วจึงนำโลหะผสมมาเทลงตามรูที่ขี้ผึ้งออก ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงนำมาแกะดินที่เผาจนสุกออกก็จะเห็นโหละสำริดที่เทเข้าไปแทนที่ของขี้ผึ้ง กลายเป็นพระพุทธรูปหล่อ จากนั้นนำมาตกแต่งขัดลายให้เกิดความมันวาว

DSC_6436

ชัยรัตน์กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันนี้จะทำงานตามออร์เดอร์ที่มีคนมาสั่ง นอกจากนั้นแล้วก็ยังส่งจำหน่ายในเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก อยุธยา สุโขทัย สนนราคาก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อย่างพระพุทธรูปปางมารวิชัยสูง 9 นิ้วที่ใช้เวลาทำประมาณหนึ่งอาทิตย์ตกประมาณ 3 – 4 พันบาท นอกจากการมีความรู้เรื่องหล่อพระเป็นอย่างดีแล้ว ช่างหล่อทุกคนจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องแบบของพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ และศึกษาของเก่าอีกด้วย

ปัจจุบันการหล่อสำริดของบ้านช่างหล่อดูเหมือว่าจะยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่ารอบ ๆ ข้างบ้านจะกลายเป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคไปแล้ว แต่ลมหายใจของคนในชุมชนบ้านช่างหล่อที่ทำเพียงไม่กี่คนจะจุดประกายให้อาชีพนี้ได้รับความสนใจขึ้นอีกครั้ง เพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ไว้ของมรดกที่บรรพบุรุษถ่ายทอดไว้ให้ในอดีตกาล แม้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม

DSC_6438

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น