เชียงใหม่เดินเครื่อง เมืองไร้ขยะ โฟกัสไปที่ อปท.โรงเรียน สร้างนิสัยคัดแยกก่อนทิ้ง

Waste_Survey_Photoเชียงใหม่เดินเครื่อง “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” “ปวิณ” เผยในปี 2560 ทุก อปท. ต้องแยกขยะในครัวเรือนให้ได้ พร้อมเน้นไปที่โรงเรียนเพื่อการสร้างจิตสำนึกการจัดการขยะตั้งแต่วัยเด็ก เตรียมขยายกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะให้ครอบคลุมในทุกโรงเรียน โจทย์สำคัญคือการสร้างวินัย มอบนโยบายให้ทุกท้องถิ่นเร่งดำเนินการ ส่วนสถานที่กำจัดขยะเริ่มขยับได้ เว้นโซนกลางที่ดอยสะเก็ดต้องรอแผนการดำเนินงานจาก อบจ. โจทย์สำคัญต้องละขยะให้น้อยกว่าปี 2559 ให้ได้ร้อยละ 5

วันที่ 30 ส.ค.59 เวลา 13.30 น. ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 25 อำเภอ เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมมีการกำหนดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ตาม Road Map การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่ผ่านความเห็นชอบของ คสช. พร้อมกับการนำเสนอแผนแม่บทการบริการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2560 และการกำหนดแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ในส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ต้องปฏิบัติในระยะที่ 1 พ.ศ.2559-2560

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ไขขยะมูลฝอยและวัสดุที่เป็นของเสียจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่มาดูแลเรื่องนี้ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจะดูแลในภาพรวม กำกับการดำเนินการในทุกพื้นที่ของเชียงใหม่ให้การจัดการขยะให้เป็นไปตามหลักวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุนการจัดตั้งงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง

“ส่วนที่ 2 คือ ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีนโยบายประชารัฐมาเป็นกรอบกำหนดในการทำงาน โดยจะทำงานบูรณาการตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล หมู่บ้าน และชุมชม เพื่อการแก้ไขปัญหาขยะ เป้าหมายก็คือ การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง การสร้างวินัยเพื่อให้ปริมาณขยะลดลง พร้อมกับการกำหนดให้วิธีการจัดการขยะให้มีคุณภาพมากขึ้น ในส่วนของหน่วยงานสาธารณสุขก็จะไปดูแลเรื่องของขยะติดเชื้อ ซึ่งประเด็นนี้ทางสาธารณสุขมีนโยบาย ก็ต้องให้ทางสาธารณสุขสร้างองค์ความรู้ให้กับท้องถิ่นว่าต้องดำเนินการอย่างไรกับขยะติดเชื้อ รวมทั้งงบประมาณด้วยว่าจะมาจากส่วนไหน สำคัญที่สุดคือ เรื่องวินัย จะทำอย่างไรในเรื่องการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แยกขยะในระดับครัวเรือนให้ได้ แล้วปริมาณขยะจะลดลงโดยปริยาย” ผวจ.เชียงใหม่ แจง

นายปวิณฯ กล่าวต่อว่า ส่วนกรอบการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลตามแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” น้น ในปีงบประมาณ 2560 นี้ ทุก อปท.ต้องดำเนินการลดขยะครัวเรือนให้ได้มากที่สุดในทุกช่องทาง และเมื่อขยะครัวเรือนลดลง ปริมาณขยะโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่ก็จะลดลงด้วย

“สำหรับสถานที่กำจัดขยะของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ล่าสุดมีการแก้ปัญหาในทุกโซน ที่โซนเหนือพื้นที่ อ.ฝาง แก้ไขลุล่วงไปแล้ว โดยศาลได้มีคำสั่งให้สามารถดำเนินการได้แล้ว ส่วนโซนกลางนั้นโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด คงจะต้องมีการพูดคุยกับทาง อบจ.เชียงใหม่ ว่าจะดำเนินการในทิศทางใด ขณะนี้ครบเวลาที่ทาง อบจ.เชียงใหม่ ต้องนำแผนการบริหารจัดการมาเสนอในระดับจังหวัดแล้ว ส่วนในพื้นที่ อ.เชียงดาว เริ่มที่จะจัดการขยะได้ด้วยตัวเองแล้ว สำหรับแหล่งกำจัดขยะแหล่งอื่นๆ ที่มีอยู่ก็จะมีการส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นเรื่องยากต่อการปฏิบัติคือ การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการจัดการขยะ นายปวิณฯ กล่าวตอบประเด็นนี้ว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับครัวเรือน ต้องมาจากชุมชน ทุกบ้านเรือนต้องตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะการคัดแยกขยะ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เองทางหนึ่งจะเน้นไปที่โรงเรียน ซึ่งสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาดำเนินการอยู่คือการให้เด็กนักเรียนรู้จักกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารขยะ การเอาขยะมาแลกเปลี่ยน ซึ่งเรื่องนี้โครงการแบบนี้จะต้องมีการขยายออกไปในวงกว้างให้ได้ ที่สำคัญระดับบ้านและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพราะในแผนปี 2560 นอกเหนือจากการโฟกัสไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องที่กับประชาชนในท้องถิ่นนั้นที่จะต้องมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องขยะในท้องถิ่นไปด้วยกัน

สำหรับแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ.2559-2560) มีการกำหนดเป้าหมาย 3 ประการคือ ประการแรก ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เข้าสู่ระบบการกำจัดที่ปลายทางลดลง ประการที่ 2 ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการคัดแยกเพิ่มขึ้น และประการที่ 3 กากอุตสาหกรรมและมูลฝอยติดเชื้อได้รับการกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าในการการปฏิบัติไว้ 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายแรก ปริมาณมูลฝอยทั่วไปที่เข้าสู่ระบบการกำจัดที่ปลายทางลดลง ร้อยละ 5 จากปี พ.ศ.2559 เป้าหมายที่ 2 หมู่บ้าน ชุมชน ร้อยละ 100 ทั่วประเทศมีการจัดตั้ง จุดรวมของเสียอันตรายชุมชน เป้าหมายที่ 3 ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อร้อยละ 85 ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป้าหมายที่ 4 ปริมาณกากอุตสาหกรรมร้อยละ 70 ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ทั้งนี้สถานการณ์ภาพรวมขยะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2559 พบว่ามีปริมาณขยะเกิดขึ้น 605,315.16 ตันต่อปี หรือ 1,658.50 ตันต่อวัน แยกเป็นขยะที่ อปท. มีการให้บริการได้ จำนวน 149 แห่ง ปริมาณขยะ 485,773.54 ตันต่อปี หรือ 1,330.89 ตันต่อวัน ในปริมาณขยะจำนวนนี้ มีการนำไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 34 กำจัดถูกต้องร้อยละ 52 อีกร้อยละ 14 ยังมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง และยังพบว่ามี อปท. ที่ไม่สามารถให้บริการจัดเก็บได้ 61 แห่ง ปริมาณขยะ 119,577.63 ตันต่อปี หรือ 327.61 ตันต่อวัน ปริมาณขยะจำนวนนี้ได้รับการนำไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 22 ส่วนที่เหลือขยะที่รอการกำจัดอาจกำจัดไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการฃ

ร่วมแสดงความคิดเห็น