สสจ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ตั้งทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

B-3.jpg
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งทีมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง(ทักษะการดูแลด้านจิตวิญญาณ) โดยนางชลลิสา จริยาเลิศศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม ณ. โรงแรมเมอร์เคียวเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
นางชลลิสา จริยาเลิศศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าสาเหตุการเจ็บ ป่วย มีแนวโน้มเปลี่ยนจากโรคติดเชื้อเป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่ม โรคมะเร็งและโรคทางหลอดเลือด โรคเรื้อรังเป็นโรคที่ต้องการดูแลแบบประคับประคองอย่างใกล้ชิดในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต มีความเจ็บปวดและทรมาน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เกิดปัญหาที่ซับซ้อนทั้งจากผู้ป่วยและครอบครัว ส่งผลให้ผู้ป่วยเรื้อรังอยู่ในระยะสุดท้ายต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงในการพยุงชีวิต การเสียชีวิตจึงเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลเป็นหลัก
เมื่อระยะของโรคลุกลามเข้าสู่ระยะสุดท้าย รักษาไม่หาย ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่กับความทุกข์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม ทำให้ต้องเข้าเอกโรงพยาบาลเป็นระยะๆ ตลอดจนช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อประคับประคองอาการที่ไม่สามารถบอกระยะเวลาการเสียชีวิตได้ และจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญเรื่องการบูรณาการดูแลผู้รับบริการทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระยะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยประคับประคอง ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงต้องมีการเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ตอบสนองกับปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยทุกกลุ่มวัย เพื่อให้การดำเนินการบรรลุตามเป้าหมาย จำเป็นต้องมีการบูรณาการ การทำงานร่วมระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพ ผู้ดูแล และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารในการทำงานร่วมกัน
ดังนั้นการจัดตั้งทีมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่รับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างการดำเนินงานเพ่อให้เหมาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายโดยอยู่บนพื้นฐานของการรับรองสิทธิของผู้ป่วยในการตัดสินใจ ที่จะได้รับการตอบสนองตามความปราถนาครั้งสุดท้ายของชีวิต ทั้งนี้ ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมตั้งใจรับฟังเรื่องราวต่างๆเพื่อนำกลับไปวิเคราะห์การดำเนินงานในการให้บริหารดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการให้การดูแลในช่วงที่ผ่านมา เพื่อที่จะนำความรู้มาพัฒนางานที่ได้รับผิดชอบ เพราะทุกท่านมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานความร่วมมือในการดำเนินงาน วางแผน พัฒนาและกำกับติดตามประเมินผลการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
นางภัทรินท์ นาคสุริยะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มของจำนวนของผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านั้นเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคองระยะท้าย จากข้อมูลการดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะท้ายของจังหวัดเชียงใหม่ปีงบประมาณ 2559 ที่ได้รับการดูแล จำนวน 2,100 ราย ให้บริการ 6,421 ครั้ง สอดคล้องกับนโยบายภาวะพึ่งพิง กลุ่มผู้ป่วยประคับประคองระยะท้ายเหล่านี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆในการดำเนินงาน
จากผลการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะท้ายในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในทางปฏิบัติยังมีช่องว่างและปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงาน การประสานงานและเชื่อมดยง การทำงานระหว่างทีมสุขภาพและ care giver ในระดับต่างๆ ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การดำเนินงานยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยประคับประคองในชุมชน ส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดตั้งทีมในการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง
คณะทำงานการดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะท้ายจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทีมสุขภาพที่รับผิดชอบ และจัดตั้งทีมในการดูแลผู้ป่วยกระคับประคอง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล และในส่วนของชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่างๆในการดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะท้าย ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผุ้รับผิดชอบงานดูแลผู้ป่วยประคับประคองจากโรงพยาบาล ,โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล,จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ,พระสงฆ์,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,จิตอาสา,อสม, จำนวนทั้งสิ้น 150 คน
โดยมีคณะวิทยากรจากโรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสันป่าตอง ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสา ที่เข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น