การดูแลกล้วยไม้ในฤดูฝน (4)

Exif_JPEG_422
Exif_JPEG_422

จากตอนที่แล้วได้ได้กล่าวถึงโรคเน่าที่มักเกิดขึ้นในกล้วยไม้ ซึ่งได้แก่ โรคเน่าเละ สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas gladioli เป็นโรคที่พบเห็นบ่อยที่สุดเกิดจากการให้น้ำ ให้ปุ๋ยมากเกินไป ทำให้ต้นฟาแลนอปซีสที่ปลูกเลี้ยงมีสภาพอวบน้ำ ต้นไม่แข็งแรง ส่วนโรคเน่าดำ หรือเน่าเข้าใส้ สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Phytopthora palmivora ระบาดได้ง่ายในช่วงฤดูฝน ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง สปอร์แพร่กระจายไปกับน้ำที่ใช้รดต้นไม้ โรคเหี่ยวหรือเน่าแห้งที่เกิดจากเชื้อราเมล็ดผักกาดสาเหตุ เกิดจากเชื้อ Sclerotium rolfsii เป็นเฉพาะส่วนของโรงเรือนที่มีการระบายอากาศไม่ดี และแฉะ ลักษณะอาการ เชื้อมักแพร่ระบาดจากพื้นดิน เข้าทำลายบริเวณราก และโคนต้น โดยเห็นเชื้อเป็นเส้นใยสีขาวหยาบ ๆ ขึ้นแทรกแล้วแผ่ขยายจับตามราก ลำต้น และโคนใบ มีเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ สีขาวและน้ำตาลไหม้ ขนาดเมล็ดผักกาดขึ้นปะปนอยู่กับเส้นใบ รากแห้งเปราะ และเป็นผงเมื่อขยี้ด้วยมือ เนื้อเยื่อบริเวณโคนต้นถูกทำลายจนเน่า แห้ง และหลุดง่าย การป้องกันและกำจัด หากพบต้นที่เป็นโรค ควรเผาทำลายทิ้ง และฉีดพ่น ไวตาแวกซ์สำหรับแมลงศัตรูแม้ว่าจะพบการระบาดน้อยก็ตาม ควรฉีดพ่นสารเคมี ทุกๆ 7 – 14 วัน ตลอดจนควรฉีดพ่นในช่วงเวลาไม่มีแดดจัด ซึ่งเวลาที่เหมาะสมคือตอนเย็นหรือตอนค่ำ
ส่วนสิ่งที่ต้องระวังในการปลูกกล้วยไม้ในช่วงฤดูฝนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การการจัดการในโรงเรือน สภาพของโรงเรือนที่อับชื้น การระบายอากาศไม่ดีพอ ตลอดจนการที่กล้วยเปียกเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคเน่าได้ง่าย ควรมีการจัดการให้อากาศระบายได้สะดวก เช่น การเปิดด้านข้าง เอาต้นไม้หรือสิ่งที่กีดขวางทางลมออกหรือเอาหลังคาที่พรางแสงในฤดูร้อนออกให้เหลือเพียงชั้นเดียว เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวก และให้แสงส่องเข้าไปมากขึ้นจะช่วยให้การระบายอากาศดีและต้นไม้แห้งเร็วขึ้น หรือการปรับการจัดวางกระถางต้นไม้ให้ห่างมากขึ้น หรือปรับระยะแขวนให้ห่างมากขึ้น การจัดวางกระถางที่แน่นเกินไป การจัดวางให้ห่างขึ้นโดยเอากระถางแถวกลางออก รวมทั้งการตัดแต่งใบและราก กล้วยไม้บางชนิดที่มีรากยาวมากควรตัดแต่งออกบ้างโดยเฉพาะรากที่แห้ง แต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของรากเดิม จะช่วยให้รากใหม่เกิดได้เร็วขึ้นส่วนใบที่เน่าเสีย หรือมีโรคเข้าทำลายควรตัดออกเพื่อไม่ให้ลุกลามต่อไป และการกำจัดวัชพืชที่ขึ้นตามพื้นโรงเรือนก็ควรมีการกำจัดด้วยเช่นกันจะช่วยให้พื้นแห้งขึ้นความชื้นในโรงเรือนก็จะลดลงตามไปด้วย (โปรดติดตามตอนต่อไป)
นายใจศิลป์ ก้อนใจ
นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยสาธิต
และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น