แม่สะเรียง…อดีตเมืองหน้าด่านของล้านนา

DSCF0016แม่สะเรียงเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ด้วยมีธรรมชาติ ขุนเขา ป่าไม้อันพิสุทธิ์สมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมของชนเผ่าและประเพณีของท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมือง ลองแวะเข้าไปสัมผัสเมืองแม่สะเรียง ที่แวดล้อมด้วยป่าเขาเขียวขจีและย้อนรำลึกถึงอดีตของเมืองหน้าด่านแห่งอาณาจักรล้านนา

แม่สะเรียงเป็นอำเภอเล็ก ๆ และเก่าแก่อำเภอหนึ่งของแม่ฮ่องสอน เดิมมีชื่อเรียกว่า “เมืองยวม” ตามชื่อของแม่น้ำที่ไหลผ่าน เมืองแห่งนี้เป็นเสมือนประตูสู่แม่ฮ่องสอน เพราะเมื่อเดินทางมาจากเชียงใหม่ ตามถนนสาย 108 จากอำเภอฮอดก็จะถึงแม่สะเรียงก่อน คนที่เดินทางจะเข้าแม่ฮ่องสอนก็จะได้ผ่าน 1,864 โค้งบนเส้นทางนี้ที่สวยงามด้วยแมกไม้ธรรมชาติสองข้างทาง

ในอดีตเมืองแม่สะเรียง หรือ เมืองยวม เป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งมีอายุกว่า 600 ปี ชาวพม่าจะเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “เมงลองยี” แปลว่าเมืองแห่งแร่หินใหญ่ จากพงศาวดารโยนก (พ.ศ.1900) กล่าวถึงเมืองยวมว่า เป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนา คอยต้านทัพของพม่าที่จะยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1944 – 1985) พระองค์ทรงมีราชบุตรหลายองค์ด้วยกัน ต่อมาเจ้าท้าวลก ราชบุตรลำดับที่ 6 ถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่เมืองยวม ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ทุรกันดารด้วยเหตุที่คิดจะแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างที่ครองเมืองยวมอยู่นั้นเจ้าท้าวลกได้ทำการติดต่อกับพระเจ้าสามเด็กย้อย ซึ่งเป็นอำมายต์ชั้นผู้ใหญ่ในล้านนา ซึ่งพระเจ้าสามเด็กย้อยมีความจงรักภักดีต่อเจ้าท้าวลกและคิดที่จะร่วมมือกันแย่งชิงราชสมบัติคืนจากพระเจ้าสามฝั่งแกน ขณะนั้นพระเจ้าสามฝั่งแกนได้แปรพระราชฐานประทับอยู่ที่เวียงเจ็ดริน บริเวณเชิงดอยสุเทพ เจ้าท้าวลกและพระยาสามเด็กย้อย จึงสั่งให้ทหารเข้าไปเผาเมืองในตอนกลางคืน พระเจ้าสามฝั่งแกนเข้าใจผิดคิดว่าศัตรูยกทัพเข้ามาตีเมืองจึงได้ทรงม้ากลับเข้าเมืองเชียงใหม่เพื่อจะไปรวบรวมไพร่พลทหาร ครั้นพอเข้าไปในเขตพระราชฐานจึงถูกเจ้าท้าวลกและพระยาสามเด็กย้อยจับตัวไปและแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จ

DSCF0015นอกจากนั้นยังมีตำนานบันทึกเกี่ยวกับเมืองยวมในฐานะของเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนาว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดเจ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้ากาวิละขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ พระองค์ได้ทรงเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเมืองยวมเลยไปจนถึงเมืองยางแดง (กะเหรี่ยง) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) โดยให้พระยาสามล้านนำเครื่องราชบรรณาการไปมอบให้กับ ยางก๊างหัวตาด นายด่านของชาวกะเหรี่ยงแดงซึ่งมีกำลังพลหลายร้อยคน เพื่อที่จะไปช่วยรบกับทัพพม่า ครั้นเมืองพม่ายกทัพจะเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิละร่วมกับยางก๊างหัวตาด นำทัพกะเหรี่ยงออกสู่รบกับพม่าจนแตกกระเจิง

กระทั่งปี พ.ศ.2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงได้ทรงแต่งตั้งพระยาวชิรปราการขึ้นเป็นพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งให้เจ้าอุปราชธรรมลังกาไปตรวจเยี่ยมเมืองยวมและเลยไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำคง ทรงเห็นว่าเมืองยางแดงนั้นไม่ได้ขึ้นต่อกับพม่า จึงได้ทำการผูกไมตรีเพื่อให้คอยสอดส่องดูแลทัพของพม่าที่จะเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ โดยได้ทำพิธีดื่มน้ำพิพัฒนสัตยากันที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำคง แล้วฆ่าควายนำเลือดมาผสมกับเหล้าเป็นน้ำพิพัฒน์สัตยา ผ่าเขาควายออกเป็น 2 ซีกแล้วให้สัตยาบรรณต่อกันว่า “ตราบใดที่น้ำคงบ่แห้ง เขาควายบ่ซื่อ ถ้ำช้างเผือกบ่ยุบ เมืองเชียงใหม่กับเมืองยางแดงยังเป็นไมตรีกันตราบนั้น”

เมืองยวม แม้จะมีฐานเป็นแค่เมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนา แต่ก็มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของล้านนา นอกจากนั้นยังมีชาวเมืองยวมที่มีบทบาทในล้านนา อาทิ หมื่นด้ามพร้าคด ซึ่งเป็นนายช่างเอกของพระเจ้าติโลกราช รวมถึงนายเทพสิงห์ วีรบุรุษแห่งเมืองยวมผู้สร้างวีรกรรมอันหาญกล้านำกำลังทหารเข้าตีพม่าซึ่งครองเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ และนายดำผู้พิชิตเสือร้ายด้วยความกล้า เป็นผู้ที่มีฝีมือในการต่อสู้ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าโกหล่าน” ไปครองเมืองนายDSCF0017

ในอดีตเมืองยวม เคยเป็นถิ่นอาศัยของชนชาวลัวะและยาง (กะเหรี่ยง) ในปี พ.ศ.2467 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อของเมืองจากเมืองยวม มาเป็นเมืองแม่สะเรียง ตามลำชื่อของลำน้ำแม่สะเรียงซึ่งไหลผ่านเมือง สาเหตุหนึ่งเนื่องจากชื่อของเมืองยวมไปคล้องกับชื่อเมือง “ขุนยวม” ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเดียวกัน

ปัจจุบันแม่สะเรียงยังเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ด้วยมีธรรมชาติ ขุนเขา ป่าไม้อันพิสุทธิ์สมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมของชนเผ่าและประเพณีของท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมือง ลองแวะเข้าไปสัมผัสเมืองแม่สะเรียง ที่แวดล้อมด้วยป่าเขาเขียวขจีและย้อนรำลึกถึงอดีตของเมืองหน้าด่านแห่งอาณาจักรล้านนาก็จะดีไม่น้อยDSCF00014

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น