ผลิตภัณฑ์จาก “ผักตบชวา” บ้านสันป่าม่วง จ.พะเยา

DSC_0365“งานหัตถกรรมฝีมือของแต่ละชุมชนย่อมมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่มีวิถีแห่งดารดำรงชีพไม่เหมือนกัน เอกลักษณ์เหล่านี้ถูกหล่อหลอมออกมาในรูปแบบของงานฝีมือที่เกื้อหนุนให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง..”

นานนับร้อยปีที่ผักตบชวา พืชน้ำที่มีต้นกำเนิดอยู่ในดินแดนมลายูและเข้ามาในสยามประเทศตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แพร่ขยายพันธุ์วงกว้างออกไปทั่วประเทศ จากอดีตที่ผักชนิดนี้ขึ้นอยู่ในไม่กี่พื้นที่ปัจจุบันเกือบทุกทั่วระแหงเราสามารถพบเห็นผักตบชวาลอยปริ่มอยู่เหนือผิวน้ำ จนกระทั่งชื่อเสียงของมันกลายเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่เมื่อพบเห็นที่ไหนจะต้องกำจัดที่นั่น

ด้วยความที่ผักชนิดนี้เป็นพืชน้ำที่แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจึงทำให้มีการออกกำจัดผักตบชวากันอย่างกว้างขวางในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หากแต่มนุษย์จะรู้ไหมว่าผักที่ได้ชื่อว่าวัชพืชน้ำนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการดำรงรักษาระบบนิเวศ อีกทั้งพืชชนิดนี้ยังสามารถนำต้นมาใช้ทำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ได้อย่างมหัศจรรย์ จนปัจจุบันเกิดภาวะขาดแคลนผักตบชวาที่จะนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากผักตบชวาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ผักตบชวาที่ทำจากบ้านสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ว่ากันว่าชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวากันเกือบทุกหลังคาเรือน

DSC_0364
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2520 เมื่อจังหวัดพะเยายังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่หมู่บ้านประมง พระองค์ท่านได้ทรงเห็นบริเวณรอบ ๆ กว๊านพะเยามีผักตบชวาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบกว๊านพะเยาก็ได้นำเอาผักตบชวามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งสมัยนั้นยังมีการทำไม่แพร่หลายนัก พระองค์จึงมีดำริที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จะผักตบชวาซึ่งมีอยู่มากมายในกว๊าน โดยการนำผักตบชวามาทำเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ตะกร้า กระเป๋า ฯลฯ

ต่อมามีแม่ชีได้เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการได้เห็นชาวบ้านช่วยกันทำผลิตภัณฑ์จากผักตบจึงได้เข้ามาช่วยสอน ในระยะแรกชาวบ้านยังไม่มีตลาดรับซื้อผลิตภัณฑ์จากผักตบ ทางพัฒนาชุมชนจังหวัดก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ มีการส่งเสริมและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

หลังจากที่ชาวบ้านมีตลาดรับซื้อทุกครัวเรือนก็เริ่มหันมาทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวากันเกือบทุกบ้าน และได้จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพแม่บ้านเกษตรกร โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลสันป่าม่วงเข้ามาดูแล กำนันสมบัติ นันทาทอง กำนันตำบลสันป่าม่วงกล่าวว่า ปัจจุบันบ้านสันป่าม่วงมีการทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านสันป่าม่วงหมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตร ซึ่งทางอบต.ได้เข้ามาดูแลและส่งเสริมด้านการตลาดให้กับสมาชิก ปัจจุบันมีพ่อค้าจากต่างประเทศมารับซื้อผลิตภัณฑ์จากในหมู่บ้านด้วย

DSC_0363ยุพิน เพียรทำ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรบอกว่า เริ่มหัดทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาเมื่อปี 2527 ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีตลาดชาวบ้านที่ทำไว้ก็ไม่ได้ขาย แต่เมื่อประมาณ 4-5 ปีมานี้คนทั่วไปเริ่มรู้จักผลิตภัณฑ์จากผักตบของบ้านสันป่าม่วงมากขึ้นก็มีพ่อค้าจากเชียงใหม่เดินทางมารับซื้อและสั่งออร์เดอร์เป็นจำนวนมาก จนทุกวันนี้ทำแทบไม่ค่อยทัน วันหนึ่งจะทำได้ประมาณ 2-3 ชิ้นถ้าชิ้นไหนทำยากก็จะทำได้วันละชิ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่จะทำเป็นกระเป๋า ตะกร้า หมวก ฯลฯ ซึ่งก็จะมีรายได้เลี้ยงครอบครัวประมาณเดือน 5 พันบาท

ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาเมื่อเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ ภาวะการขาดแคลนผักตบชวา ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านบอกว่าจะต้องสั่งซื้อผักตบชวามาจากจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ชัยนาทซึ่งมีราคาสูงโดยจะบวกต้นทุนการขนส่ง ดังนั้นจึงทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผักตบชวามีราคาสูงขึ้นไปด้วย

วิธีทำผลัตภัณฑ์จากผักตบชวา เมื่อชาวบ้านได้ผักตบมาจะนำมาตากแดดประมาณ 2 วันเพื่อให้แห้งจากนั้นนำเข้าอบกำมะถันอีก 1 คืน หลังจากที่นำออกจากเตาอบก็จะนำมาตากแดดอีก 1 วันเพื่อดับกลิ่นกำมะถัน แล้วจึงนำไปย้อมสีหรือถ้าใครที่ชอบแบบธรรมชาติก็จะนำมาสานเป็นผลิตภัณฑ์ได้เลย แต่ถ้านำมาทำเป็นหมวกจะฉีกเป็นเส้นเล็กถ้าทำเป็นตะกร้าก็จะตัด เมื่อทำเสร็วแล้วก็จะทาเล็คเกอร์เคลือบไว้ให้เกิดเงา

ผักตบชวานอกจากจะช่วยรักษาความสมดุลให้ระบบนิเวศแล้ว ยังสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างเป็นกอบเป็นกำ จากที่คนมองว่าเป็นเพียงวัชพืชแต่ก็เป็นวัชพืชที่มีคุณประโยชน์ บางคนมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ผักตบชวาจนสามารถส่งเสียลูกหลานจนจบปริญญามาแล้วก็มี

หมู่บ้านผักตบชวาอยู่ห่างจากตัวเมืองพะเยาไปทางทิศเหนือตามเส้นทางพะเยา – เชียงรายประมาณ 2 กิโลเมตรเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางวัดอนาลโยอีกประมาณ 5 กิโลเมตรจะถึงบ้านสันป่าม่วง

DSC_0366

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น