สถานการณ์เขื่อนหลัก พบน้ำยังน้อย “ภูมิพล”เหลือ 11% ฝนหลวงรุกอีกครั้ง

9-42-jpg-42-447x600
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการหลายหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำน้อยในเขื่อนหลักทั่วประเทศ ขณะที่เขื่อนภูมิพล พบมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ใช้ได้แค่ 11 เปอร์เซนต์เท่านั้น

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 37,636 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,109 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปี 2558 ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานการณ์น้ำเป็นรายภาค จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำดี ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำยังไม่พาดผ่านลงมาทางตอนล่าง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าร่องความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนตัวลงมาในพื้นที่ตอนล่างในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2559

สำหรับสถานการณ์น้ำในสี่เขื่อนหลัก ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 8 ก.ย. 59 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,963 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558 ประมาณ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลัก

1280px-bhumibol_dam_front

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในปีนี้เขื่อนภูมิพล ยังคงมีปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์น้อย เพียงร้อยละ 11 เท่านั้น กรมชลประทาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ได้บูรณาการร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดทำแผนการทำงานในเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2559 ร่องความกดอากาศต่ำยังคงพาดผ่านในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กรมชลประทาน จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง คาดว่าจะสามารถเติมน้ำลงในสี่เขื่อนหลักได้ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้จะเป็นปริมาณน้ำที่เติมลงในเขื่อนภูมิพล ประมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้สถานการณ์น้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพลดีขึ้น

การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆในครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ เป็นการทำงานตามหลักวิชาการ โดยตระหนักถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ร่วมแสดงความคิดเห็น