“แม่น้ำโขง” สายน้ำอันเป็นนิรันดร์

dscf0839

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมฉุกคิดและงุนงงต่อปัญหาของแม่น้ำโขงที่รัฐบาลจีนมีโครงการจะระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเมื่อหลายปีก่อน เพียงเพื่อเปิดช่องทางให้เรือสินค้าขนาดใหญ่รวมถึงเรือท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นลงแม่น้ำโขงได้ตลอดปี จากเดิมที่จำกัดเฉพาะเพียงเรือขนาดเล็กที่สามารถเดินทางได้เท่านั้น

หลายฝ่ายวิตกกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาและไม่เชื่อว่า การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงซึ่งมีทั้งหมดกว่า 12 แก่งจะได้ผลไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป ระบบนิเวศ วิถีชีวิตของผู้คนจะย่อยยับจนไม่อาจจะกู้กลับคืน โดยเฉพาะจะส่งผลกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์ปลาบึก ซึ่งถือว่ามีถิ่นอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันตามข้อตกลงการเดินเรือเสรีในแม่น้ำโขงของ “กลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง” (Greater Mekong Sub-region scheme) ประกอบด้วยประเทศจีน พม่า ลาว ไทยรวมถึงกัมพูชาและเวียดนาม
ความสำคัญของแม่น้ำโขงในฐานะของแม่น้ำสากลสายใหญ่ที่ได้ไหลรินผ่านชุมชนหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งที่ใช้ดื่มกินมาทุกเมื่อเชื่อวัน จนอาจลืมสำนึกถึงคุณค่าของสายน้ำ จนบางครั้งปล่อยให้มันรินไหล หกหล่นและเลื่อนลอยผ่านผันไปอย่างเปล่าเปลือง ในขณะที่สายน้ำต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง มั่นคง ดำรงตนเสมอมาตลอดกาล
บนแผ่นดินฟากฟ้าหลังคาโลกของที่ราบสูงชิงไห่ – ธิเบต หยดน้ำจากหิมะได้รวมตัวกันแล้วไหลกลั่นออกมาลงสู่ผืนแผ่นดินที่ลุ่มต่ำ กลายเป็นตำนานของสายน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่เรารู้จักในชื่อ “แม่น้ำโขง” เรารู้จักลำน้ำโขงในฐานะที่เป็นสายน้ำจากแดนไกล ไหลผ่านเข้ามาเยี่ยมเยือนรอยตะเข็บชายแดนไทยที่บริเวณบ้านสบรวกสามเหลี่ยมทองคำ ในเขตอำเภอเชียงแสน แล้วไหลเลาะเป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างไทย – ลาว กระทั่งถึงอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายก่อนที่จะไหลลึกเข้าไปในแผ่นดินลาว แล้ววกกลับมาเป็นเส้นแบ่งแดนไทย – ลาวอีกครั้งหนึ่งที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยไหลลัดเลาะจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานีและไหลเข้าไปในดินแดนลางอีกครั้ง นั่นทำให้คนไทยเรารู้จักแม่น้ำโขงไม่กว้างขวางเท่าใดนัก นอกไปจากแม่น้ำที่รินไหลเลาะแนวชายแดนเท่านั้น
แต่สำหรับแม่น้ำที่เดินทางมาไกลจากต้นสายปลายสุดที่รวมระยะทางถึง 4,909 กิโลเมตรผ่านผืนแผ่นดินถึง 7 ประเทศแล้วย่อมจะมีคนรู้จักมักคุ้นกับสายน้ำนี้ในคุณค่าที่ต่างกันออกไป ดังเช่นที่ต้นกำเนิดแห่งสายน้ำทางตอนใต้ของมณฑลชิงไห่ ผู้คนบนหลังคาโลกเหล่านั้นรู้จักแม่น้ำสายนี้ในนาม “แม่น้ำซากุ” ครั้นเมื่อไหลเข้าสู่เขตปกครองตนเองธิเบต คนที่นั่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำลกฉอง” กระทั่งไหลลงทางใต้เข้าสู่มณฑลยูนนานจนไปถึงดินแดนสิบสองปันนา แว่นแคว้นชนชาวไต พวกเขาคุ้นเคยสายน้ำที่ใช้อาบกินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในนามของ “แม่น้ำลานช้าง” หรือ “แม่น้ำล้านช้าง” ครั้นเมื่อไหลผ่านลงมายังชายแดนพม่ากับดินแดนลาว แม่น้ำสายเดียวกันนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “แม่น้ำของ” และคนไทยที่เชียงแสนแดนสามเหลี่ยมทองคำก็ต้อนรับสายน้ำนี้ด้วยนามใหม่ใกล้เคียงกันว่า “แม่น้ำโขง”

dsc_0821dscf0970นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนริมสายธารบางกลุ่มยังเรียกชื่อสายน้ำนี้ในนาม “จิวล่งจาง” อันหมายถึงแม่น้ำมังกรทั้งเก้า หรือ แม่น้ำนาคเก้าตัว ตามตำนานที่เล่าขานกันในแถบยูนนาน หรือ ดินแดนตอนใต้ของลาวที่แม่น้ำโขงไหลคดเคี้ยวผ่านเกาะแก่งจนเกิดเป็นเกาะเป็นดอนมากมาย แม่น้ำนี้ยังถูกเรียกว่า “สี่พันดอน” หรือ “แม่น้ำสีทันดร”
ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงนั้น มิใช่คนใกล้ชิดสองฟากฝั่งเท่านั้นที่จะประจักษ์แจ้ง แต่โลกยังยอมรับถึงความยิ่งใหญ่ของสายน้ำแห่งนี้ ด้วยแม่น้ำโขงนั้นนับเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 12 ของโลก คือมีความยาวของสายน้ำ จากต้นกำเนิดถึงปากน้ำราว 4,909 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำมากมายมหาศาลเฉลี่ยแล้วแม่น้ำโขงจะไหลประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งนับเป็นปริมาณน้ำที่มากเป็นอันดับ 6 ของโลกทีเดียว ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงยังก่อเกิดเป็นตำนานในบางช่วงตอนที่แม่น้ำแห่งไหลผ่านอีกด้วย ดังเช่นช่วงที่แม่น้ำโขงไหลมาบรรจบกันแม่น้ำรวกที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่นี่ถือเป็นตำนานของการค้าฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพราะถือว่าดินแดนสามเหลี่ยมทองคำเป็นรอยต่อของพื้นที่ 3 ประเทศที่มีการปลูกฝิ่นมากที่สุด จากนั้นก็ไหลผ่านอำเภอเชียงแสนแม่น้ำโขงถือได้ว่าถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองเชียงแสนในฐานะของกำแพงเมืองทางธรรมชาติ และเมื่อแม่น้ำนี้ไหลผ่านไปยังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายก็ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์ของวิถีการทำกินของชาวบ้านหาดไคร้ ด้วยถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งเดียวในโลกที่เป็นแหล่งกำเนิดของปลาบึก ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุด

ทุกปีเมื่อถึงหน้าร้อนราวเดือนเมษายนชาวบ้านหาดไคร้อำเภอเชียงของจะทำการออกล่าปลาบึก อันเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

การเดินทางอันยาวไกลของสายน้ำนี้สิ้นสุดลงแล้ว แต่สายธารแห่งฝนใหม่และการหลอมละลายของเกร็ดหิมะจากจุดกำเนิดก็ยังคงไหลรินต่อเนื่องเข้ามาแทนที่ไม่สิ้นสาย เช่นเดียวกับชีวิตผู้คนสองฟากฝั่งโขงที่ดำเนิน ขับขาน สืบสานตำนานบทใหม่ส่งทอดสืบไปไม่สิ้นสุด

dsc_2423 dsc_2676
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น