เอไอเอสนำเทคโนโลยีดิจิทัล “อสม.ออนไลน์”หนุนงาน สาธารณสุขชุมชนเชิงรุก!!

b-2เอไอเอส นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการทำงานของ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

แอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” หวังเป็นเครื่องมือยุคดิจิทัลช่วยงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก ในการบริหารจัดการและดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และทันสถานการณ์ พร้อมเปิดกว้างการใช้งานทุกเครือข่าย
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือเอไอเอส กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของ เอไอเอสอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม คือ สังคมและชุมชน ลูกค้า คู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ พนักงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทุกส่วนสู่ความยั่งยืน และการสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มดังกล่าว และในฐานะผู้นำการให้บริการดิจิทัลไลฟ์จึงมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลเข้าไปสร้างประโยชน์และคุณค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเพื่อประโยชน์ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน และการเรียนรู้ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขยายเครือข่ายของเอไอเอสในพื้นที่ต่างๆ นอกจากการทำให้ลูกค้าและประชาชนสามารถเข้าถึงการสื่อสารได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพที่ดีแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน โดยในพื้นที่ต่างๆที่ เอไอเอสเข้าไปติดตั้งสถานีฐาน เราก็จะนำสิ่งดีๆที่สร้างคุณค่าร่วมกันให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย

สิ่งสำคัญหนึ่งที่เราพบในการทำงานร่วมกับชุมชนคือ งานสาธารณสุขชุมชนมีความสำคัญ และจำเป็นต่อชีวิตของคนในชุมชน และมีความเสี่ยงต่อชีวิต หากแต่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ ถ้าสามารถเข้าถึงการสื่อสารและข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เป็นหลักในการทำหน้าที่นี้ โดยมุ่งเน้นให้ความรู้เชิงป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาตามแนวทาง“สร้างนำซ่อม” นั้นมีความสำคัญมากและจะเป็นรากฐานของการสร้างให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลต่อความเจริญและความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ
แต่อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อาจยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ รพ.สต.และอสม.เช่น พื้นที่ที่ห่างไกลกว้างขวางเข้าถึงได้ยาก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่ถูกต้องและทันสถานการณ์ การมีภาระหน้าที่ประจำของ อสม.เป็นต้น

เอไอเอสจึงเห็นว่าเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัลที่เรามีอยู่จะสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการทำงานสาธารณสุขชุมชนได้ ทีมงานเอไอเอสจึงได้ลงพื้นที่ศึกษาการทำงานและความต้องการที่แท้จริงจากกลุ่มรพ.สต. และอสม.โดยได้พัฒนาออกมาเป็นแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ที่ต้องสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นเมนูภาษาไทย เหมาะกับผู้ใช้งานและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนอย่างแท้จริง

โดยแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ได้เริ่มใช้งานครั้งแรกที่รพ.สต.หลักร้อย อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน ก.ย. 58 และได้มีการขยายการใช้งานไปในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันแอปพลิเคชันดังกล่าวมีการเปิดใช้งานกับรพ.สต.ต่างๆทั่วประเทศแล้วประมาณ 60 แห่ง ซึ่งสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี แห่งนี้ก็ได้มีการใช้งาน อสม.ออนไลน์ตั้งแต่เดือน ก.พ.59

อย่างไรก็ตามในระหว่าง 1 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน เอไอเอสได้พัฒนาอสม.ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายการใช้งานให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขชุมชน ในระดับอื่นๆโดยครอบคลุมไปถึง สาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอ ที่สามารถใช้งาน อสม.ออนไลน์นี้ได้ด้วย

“เอไอเอส มีความมุ่งหวังจะให้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ดังนั้นเราจึงไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่ใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้และไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เราเปิดกว้างให้ทุกคนที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนไม่ว่าจะใช้งานด้วยเครือข่ายใดก็ตาม ก็สามารถใช้งานอสม.ออนไลน์นี้ได้ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับเจ้าของเครือข่ายนั้นๆ เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดในการใช้ อสม.ออนไลน์เพื่อปฏิบัติงานของตนเอง โดยเอไอเอสหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำงานของ รพ.สต. และอสม. รวมถึง สสจ. และ สสอ.ผ่าน อสม.ออนไลน์ จะช่วยส่งเสริมงานสาธารณสุขชุมชนในเชิงรุก และการบริหารจัดการข้อมูล การติดต่อสื่อสาร การเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน”

นายดุลยเดช ชินวัตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานปฏิบัติการ ภูมิภาค-ภาคเหนือ เอไอเอส กล่าวว่า สำหรับภาคเหนือซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา โดยเฉพาะในบางพื้นที่มีเทือกเขาล้อมรอบ และสลับซับซ้อนจึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เนื่องจากการเดินทางในแต่ละครั้งจะต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ ซึ่งหากชาวบ้านมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นก็ไม่สามารถรอเวลาได้ ดังนั้นการที่เอไอเอสนำเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลเข้ามาส่งเสริมงานสาธารณสุขชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และข้อจำกัดในการเดินทางจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ จะช่วยให้สถานีอนามัยฯและเครือข่ายอสม.สามารถดูแล และติดตามการรักษาผู้ป่วยในเบื้องต้นได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมายังสถานีอนามัยทุกครั้งที่มีการนัดหมาย รวมทั้งสามารถนำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์สื่อสารเรื่องเร่งด่วน เช่น โรคระบาดต่างๆในพื้นที่ของภาคเหนือได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และทันต่อสถานการณ์ในการเฝ้าระวัง และควบคุมโรค

ดังนั้น การเข้าถึงการสื่อสารโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐานรวมถึงการสาธารณสุข จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันทั้ง การทำงาน และการเรียนรู้ในด้านต่างๆจะทำให้คนในภาคเหนือมีความสะดวก มีประสิทธิภาพ อย่างมีคุณภาพและสร้างคุณค่าให้กับคนในภาคได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมงานสาธารณสุขชุมชน และมุ่งหวังให้คนในทุกชุมชนมีสุขภาพที่ดีนั้น สิ่งสำคัญที่จะให้ รพ.สต.และ อสม.ในภาคเหนือใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพนั้น เครือข่ายที่ดี ครอบคลุม และมีคุณภาพ นั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ขณะเดียวกันเอไอเอสยังมีการลงทุนด้านเครือข่ายเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานเสียง และข้อมูลแก่ลูกค้า รวมถึงมีการขยายเครือข่ายในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถใช้งาน และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพด้วย โดยในพื้นที่ภาคเหนือ เอไอเอสได้ขยายสถานีฐาน 3G บนคลื่น 2100 MHz และ 4G บนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ครอบคลุมทั้งภาคกว่า6,900 สถานีฐาน โดยแบ่งเป็นสถานีฐาน 3G จำนวน 5,500 สถานีฐาน และสถานีฐาน 4G จำนวนเกือบ 1,500 สถานีฐาน และมีแผนขยายเพิ่มอีกประมาณ 3,000 สถานีฐาน ซึ่งรองรับผู้ใช้บริการในภาคที่มีอยู่ราว 6 ล้านราย ตลอดจนการนำคลื่น 900 MHz ที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำ สามารถกระจายสัญญาณได้กว้างไกลเข้าไปช่วยการติดต่อสื่อสารในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะทำให้การทำงานของรพ.สต.และอสม.ในพื้นที่ห่างไกลก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากความพร้อมด้านเครือข่ายที่จะส่งเสริมให้การใช้งาน อสม.ออนไลน์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เอไอเอสยังพร้อมสนับสนุนเครื่องสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนมีสิทธิพิเศษให้แก่ผู้ใช้งานในระบบเครือข่ายของเอไอเอส เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการทำงานสาธารณสุขชุมชนของ อสม. ซึ่งเป็นจิตอาสาและทำงานด้วยการใช้ใจและมีจิตสาธารณะสูง

ขณะที่ นายปรีชา บุญญาประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า ด้วยภารกิจของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาฯ ที่ต้องดูแลสุขภาพของคนในชุมชนจำนวน 5 หมู่บ้าน 609 หลังคาเรือน ประชากรราว 2,841 คน ซึ่งต้องอาศัยเครือข่าย อสม.ที่มีอยู่ 56 คนในการลงพื้นที่ดูแลสุขภาพของประชากรทั้งหมด เนื่องจากอำเภอลานสัก เป็นพื้นที่ที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ทำให้ภูมิประเทศติดกับแนวเขาตลอดเส้นทาง ส่งผลให้การเดินทางไปแต่ละหมู่บ้านค่อนข้างยากลำบาก ดังนั้นการทำงานระหว่างสถานีอนามัยฯ และอสม. ต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะการสนทนาผ่านทางเสียง และการส่งข้อมูลตามช่องทางเท่าที่มีอยู่เดิม

ในระหว่างนั้นทางสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาฯ กำลังมองหาเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยในการทำงานสาธารณสุขชุมชนในการติดต่อสื่อสารเพื่อส่งข้อมูลข่าวสาร ประกาศ หรือแจ้งสถานการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดจากกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรวดเร็ว แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ อย่างทันท่วงทีเนื่องจากสถานีอนามัยฯมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาพยาบาลประชากรในพื้นที่ จึงได้ติดต่อมายังเอไอเอส เพื่อนำแอปพลิเคชันอสม.ออนไลน์เข้ามาช่วยส่งเสริมการทำงานระหว่างสถานีอนามัยกับ อสม.

โดยภายหลังจากสถานีอนามัยฯนำ อสม.ออนไลน์ มาใช้งานแล้ว สิ่งที่เห็นถึงประโยชน์ที่ได้คือในเรื่องของการแจ้งข่าวสารระหว่าง สถานีอนามัยฯกับ อสม.ทั้ง 5 หมู่บ้าน ให้ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ภายในครั้งเดียว ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงนาที ที่สำคัญเป็นแอปพลิเคชันเฉพาะการทำงานเท่านั้นจึงทำให้ อสม.ทั้ง 5 หมู่บ้านที่ใช้งานอสม.ออนไลน์ไม่พลาดข่าวสารที่สถานีอนามัยแจ้งออกไป เนื่องจาก อสม.จะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกหากมีการแจ้งเตือนผ่านห้องสนทนา หรือห้องแจ้งข่าวสารผ่านอสม.ออนไลน์ ต่างจากแอปพลิเคชันอื่นๆที่มีทั้งเรื่องาน และเรื่องส่วนตัวส่งผลให้อสม.ไม่ได้ให้ความสำคัญส่งผลให้อสม.อาจพลาดข่าวสารที่สำคัญจากทางสถานีอนามัยแจ้งออกมา

“อสม.ออนไลน์ ถือเป็นแอปพลิเคชันฯที่ใช้เฉพาะการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานีอนามัยฯกับอสม.ในการทำงานเท่านั้น ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่พลาดทุกการติดต่อในเรื่องงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแจ้งข้อมูลข่าวสาร แจ้งนัดประชุม แจ้งโรคระบาด หรือการส่งรายงาน หรือแม้แต่หาก อสม.ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยแล้วพบว่าผู้ป่วยผิดปกติก็จะสามารถสอบถามกลับมายังสถานีอนามัย ผ่านอสม.ออนไลน์ ได้ทันที เพราะหมอที่สถานีอนามัยก็จะรู้ในทันทีว่าเป็นเรื่องด่วนหากอสม.ติดต่อมาทางแอปพลิเคชันดังกล่าวจึงทำให้ไม่พลาดทุกการติดต่อ”

อย่างไรก็ดีในอดีตหากต้องการส่งข่าว หรือแจ้งเรื่องสำคัญต่างๆให้กับสมาชิก อสม.ได้รับทราบ ทั้งเรื่องการนัดประชุม การแจ้งรับเงิน หรือการส่งเอกสาร ทางสถานีอนามัยฯจะต้องฝากประธานอสม. หรือ อสม.ที่มาเข้าประชุม รวมไปถึงคนในชุมชนที่เข้ามาใช้บริการของสถานีอนามัยฯไปแจ้งข้อมูลให้แก่ อสม. ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 วันกว่าจะได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ที่สำคัญมักพบปัญหาเรื่องการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดทำให้การนัดหมายเกิดความคลาดเคลื่อน เช่น การนัดประชุม และการฉีดวัคซีนของคนไข้ เป็นต้น

นางจีรนันท์ อ่อนศรี อสม.หมู่ 12 สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาฯ กล่าวว่า อสม.ทำงานด้วยจิตอาสา โดยการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อดูแลผู้ป่วย รวมถึงติดตามกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งการนำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์เข้ามาช่วยในการทำงาน ทำให้การดูแลงานสาธารณสุขชุมชนรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการไม่พลาดข่าวสารเกี่ยวกับงานสาธารณสุขชุมชน เพราะเป็นแอพลิเคชันเฉพาะการทำงานเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ อสม.ทุกคนที่ใช้งานก็จะให้ความสำคัญรีบเปิดก่อนส่งผลให้ไม่พลาดข่าวสารที่สำคัญจากทางสถานีอนามัย

รวมไปถึงการส่งรายงาน และข้อมูลต่างๆของผู้ป่วยในการดูแล เช่นเมื่อมีการส่งภาพหรือบาดแผลของผู้ป่วย เพื่อขอคำแนะนำจากหมอในการดูแลเบื้องต้นทางสถานีอนามัยก็จะสามารถตอบกลับมายัง อสม.ที่ลงพื้นที่อยู่ได้ทันทีเนื่องจากทางสถานีอนามัยก็รู้ว่าต้องเป็นเรื่องด่วนเกี่ยวกับงานเท่านั้นจึงจะติดต่อผ่าน ทางอสม.ออนไลน์ ซึ่งยังจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของอสม.ในการเดินทางเข้ามายังสถานีอนามัยอีกด้วยส่งผลให้สามารถติดตาม และดูแลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือเป็นโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งจะช่วยให้หมอสามารถประเมินผู้ป่วยได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยเข้ามาพบหมอในวันนัดที่สถานีอนามัยเท่านั้น และหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติก็สามารถแก้ไขและรักษาได้อย่างทันท่วงที

นางสายลม เวรุวาปี อสม.หมู่ 12 สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาฯ กล่าวว่า นอกจากอสม.ออนไลน์จะเข้ามาช่วยในการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนแล้ว ยังเข้ามาช่วยกระตุ้นการทำงานของอสม.ระหว่างหมู่บ้านทำให้เกิดการตื่นตัวในการทำงาน เช่นเมื่อมี อสม.ลงพื้นที่ตรวจลูกน้ำยุงลาย หรือการรณรงค์เรื่องการเกิดโรคระบาดในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และมีการแจ้งเข้ามาใน อสม.ออนไลน์ เมื่อเห็นข่าวสารที่อสม.คนอื่นลงไปทำงานลงพื้นที่แล้ว ทำให้เราต้องเร่งลงพื้นที่ดูแลคนของเราเหมือนกัน เพื่อรีบป้องกันไม่ให้พื้นที่ของเราเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด หรือการระบาดของลูกน้ำยุงลาย เพราะหากเกิดโรคระบาดในพื้นที่ที่รับผิดชอบก็เท่ากับว่าการลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ด้านสาธารณสุขชุมชนไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น