สสจ.เชียงใหม่ เฝ้าระวังควบคุมโรคติดเชื้อ ไวรัสซิกาต่อเนื่อง

สสจ.เชียงใหม่ เฝ้าระวังควบคุมโรคติดเชื้อ ไวรัสซิกาต่อเนื่อง

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาต่อเนื่อง ขอประชาชนรับทราบวิธีการ

ป้องกันตนเอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเอง อาจมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนเด็กหัวเล็ก ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นความพิการแต่กำเนิดไม่ใช่จากติดเชื้อไวรัสซิกา เมื่อวันที่ 13 ก.ย.59 นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ พบว่าโรคไข้เลือดออกซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 11 กันยายน 2559 จำนวน 3,537ราย

image-82-800x600

เสียชีวิต จำนวน 2 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 25-34 ปี รองลงมาคืออายุ 15-24 ปี และอายุ 35-44 ปี ตามลําดับ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่แตง อ.สันทราย อ.ดอยสะเก็ด และ อ.แม่ริม สถานการณ์ไวรัสซิกาในวันที่ 13 กันยายน 2559 จ.เชียงใหม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาจำนวนทั้งหมด 11 ราย การจากตรวจหาซิกาใน อ.สันทราย มีทั้งสิ้น 609 ราย มีผลเป็นบวก 12 รายเป็นบุคคลทั่วไป 8 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3 ราย ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารของ สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ รับทราบวิธีการป้องกันตนเอง

โดยข้อมูลจากการเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ 3 คนที่ติดเชื้อไวรัสซิกา อยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์ ส่วนกรณีพบเด็กหญิงหัวเล็ก ลำตัวแคระแกร็น ที่ อ.สันทรายจ.เชียงใหม่นั้น สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบพบว่า เด็กรายดังกล่าว มีภาวะศีรษะเล็กจากความผิดปกติแต่กำเนิดเป็นโรคเซกเคลซินโดรม (Seckel syndrome) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับอาการของผู้ป่วยที่พบติดเชื้อไวรัสซิกา ผู้ป่วยทั้ง 12 รายส่วนใหญ่ มีไข้ ต่ำๆ ออกผื่น อาการดีขึ้น ภายใน 3 – 5 วัน รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขณะนี้อาการเป็นปกติทุกราย การป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดลูกน้ำและยุงลาย

จึงขอให้ประชาชนถือเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่อยู่ในบ้านเรือน ที่ทำงานที่สาธารณะต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงเรือน ศาสนสถาน โรงธรรม โรงพยาบาล ตัดวงจรชีวิตของยุงลาย เพื่อให้การควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิการวมทั้งโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในการสุ่มตรวจหาลูกน้ำยุงลายภายในบริเวณบ้าน นอกจากนี้ ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง สวมเสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆปกคลุมผิวหนังและร่างกาย อยู่ในบ้านที่มีมุ้งลวดหรือนอนในมุ้ง ในหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้ทายากันยุงที่ทำจากสมุนไพร เช่นตะไคร้หอม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนั้น ทารกที่คลอดไม่ได้มีศีรษะเล็กแต่กำเนิดทุกราย จึงไม่ควรกังวลมากเกินไป อย่างไรก็ตามควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรค

สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่  053-211048- 50 ต่อ 111

ร่วมแสดงความคิดเห็น