อิฐเก่า…เล่าตำนาน

31082007001

วัดคือสถานที่ทางศาสนา ตามปกติแล้วจะมีเสนาสนะและอาคารถาวรวัตถุต่าง ๆ เป็นที่พำนักพักอาศัยศึกษาปฏิบัติธรรมวินัย และประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ตลอดจนบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ของพุทธบริษัทโดยทั่วไป นอกจากนี้ วัดยังเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและสังคมอีกด้วย

ประเภทของวัดแบ่งตามสภาพฐานะมี 3 ประการคือ

1.พระอารามหลวง ได้แก่ วัดที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ก็ดี พระราชทานเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมาหรือแก่วัดเองก็ดี มีอยู่จำนวนหนึ่งที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารผู้ใหญ่ทรงสร้างหรือสร้างขึ้น แล้วน้อมเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวง รวมทั้งวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

2.วัดราษฏร์ ได้แก่ วัดที่ประชาชนทั่วไปสร้างขึ้นซึ่งได้รับการอนุญาตให้สร้างและประกาศตั้งวัดโดยถูกต้องตามกฏหมายจากทางราชการแล้ว และช่วยกันทำนุบำรุงวัดสืบต่อกันมาตามลำดับ วัดราษฏร์หมายถึงวัดทั้งชนิดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและสำนักสงฆ์

3.วัดร้าง ได้แก่ วัดที่ไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ซึ่งทางราชการจะขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้างไว้

การสร้างวัดแต่โบราณกาล เมื่อประชาชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในบวรพุทธศาสนาได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดก็ตาม มักจะสร้างวัดขึ้นแล้วนิมนต์พระสงฆ์ให้ไปพำนักอาศัยอยู่เพื่อบำเพ็ญกุศลประกอบศาสนกิจตามประเพณีสืบต่อกันมา ครั้นประชาชนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นการสร้างวัดที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในทางการปกครอง เพราะไม่มีระเบียบแบบแผนเป็นแนวยึดถือปฏิบัติ จึงได้มีกฏหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์ตราขึ้นเป็นฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการต่าง ๆ ไว้ การสร้างวัดต้องได้รับพระบรมราชานุญาตก่อน วัดที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างเราเรียกว่า “ที่สำนักสงฆ์” เป็นวัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วจึงเรียกว่า “อาราม” ถ้าเป็นวัดหลวงก็เรียกว่า “พระอารามหลวง” ถ้าเป็นวัดราษฏร์ก็ให้เรียกว่า “อารามราษฏร์”

31082007

ครั้นต่อมาได้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช 2484 ตราขึ้นเป็นฉบับที่ 2 ใช้แทนฉบับแรก กฏหมายฉบับที่ 2 นี้ให้มีกฏกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการสร้างวัดและตั้งวัดไว้ ให้คณะกรรมการอำเภอเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้สร้างวัด หลังจากกฏหมายฉบับที่ 2 ได้ใช้มาเป็นเวลา 20 ปี ได้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ตราขึ้นมานับเป็นฉบับที่ 3 การสร้างวัดและตั้งกำหนดให้ดำเนินการตามกฏกระทรวงเช่นเดียวกับฉบับก่อน แต่การสร้างวัด กรมการศาสนาจะเป็นผู้ออกหนังสืออนุญาต วัดที่กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศตั้งแล้ว จะเรียกว่า “สำนักสงฆ์” สามารถดำเนินกิจการและทำนิติกรรมใดใดในนามของวัดได้โดยสมบูรณ์

แต่เดิมนั้น พระมหากษัตริย์ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการสร้างบ้านเมือง เป็นโบราณราชประเพณี วัดที่ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เช่นนี้เรียกว่า “พระอารามหลวง” นอกจากนี้ วัดที่ประชาชนสร้างถ้าทรงพิจารณาเห็นสมควรได้รับเกียรติยกย่องเป็นพิเศษก็ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงด้วย

วัดปันสาท (ปันสาด) ปัจจุบันเป็นวัดร้างตั้งอยู่ที่สถานีขนส่งช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพของวัดในปัจจุบันเหลือแต่เจดีย์ร้าง ซึ่งเป็นเจดีย์รูปทรงพิเศษทีไม่ปรากฏแบบแผน เข้าใจว่าคงเป็นเจดีย์ในรุ่นหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา เมื่อศิลปะเชียงใหม่ได้คลี่คลาย รับเอารูปแบบต่าง ๆ มาผสมผสานและพัฒนารูปแบบมากขึ้น เจดีย์วัดปันสาท เข้าใจว่า น่าจะมีอิทธิพลของเจดีย์ลาวปราสาท หรือ ปรางค์มาด้วย คือเป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงคล้ายดอกข้าวโพด ประกอบด้วยฐานรองรับส่วนกลางที่เรียกว่า เรือนธาตุ และส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป คล้ายรูปแบบของปราสาทขอม เรามักนิยมเรียกเจดีย์ทรงปรางค์ สั้น ๆ ว่า “ปรางค์” โดยใช้เรียกต้นแบบคือปราสาทขอม ดังนั้นเกิดคำเรียกเพื่อแยกลักษณะว่า ปรางค์ไทย ปรางค์ขอม

จากแบบแผนสิ่งก่อสร้างเราจะเห็นว่า ในส่วนฐานยังเอารูปแบบล้านนาดั่งเดิม คือประกอบฐานด้านหน้ากระดานใหญ่สี่เหลี่ยมสูงรองรับฐานหน้ากระดานเล็ก ย่อเก็จสามชั้นก่อขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว คือที่ฐานบัวคาดประดับท้องไม้ด้วยแถบนูนที่มีส่วนโค้งคล้ายเส้นหวายผ่าซีก ซึ่งเป็นฐานแบบเก่าหาดูได้ยากมาก สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเจดีย์องค์นี้ก็คือ ก่อนการบูรณะมีเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กถูกสร้างปิดทับซ้อนอยู่ เจดีย์ขนาดเล็กองค์นี้แสดงให้เห็นว่าเป็นเจดีย์ทรงกลมที่ผสมระหว่างอิทธิพลของสุโขทัยกับเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พอจะคาดเดาได้ว่า เจดีย์วัดปันสาทแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงหลังของราชวงศ์มังรายจากที่ตั้งของเจดีย์ที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มัวเมากับวัตถุทำให้ช่วงหลังมานี้ขาดการดูแลรักษาที่ดีทำให้สภาพในปัจจุบันดูจะขาดคุณค่าทางศิลปะที่มีค่ายิ่งของล้านนาไป ประกอบกับผู้คนที่อาศัยอยู่ดดยรอบไม่สนใจถึงความเป็นมาของเจดีย์วัดปันสาททำให้ ณ วันนี้เจดีย์วัดปันสาทยังคงรอเวลาที่จะถูกลืมไปจากคนเชียงใหม่เท่านั้น

31082007004

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น