เปิดงบเก็บขยะเชียงใหม่ อปท.แยกจัดหาผู้รับจ้างฯ

จังหวัดเชียงใหม่ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 211 แห่ง แยกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 4 แห่ง เทศบาลตำบล 117 แห่งและองค์การบริหารส่วนตำบล 89 แห่ง กระจายใน 25 อำเภอกับขอบเขตดูแล 204 ตำบล และ 2,066 หมู่บ้าน ที่มีการแบ่งแยกพื้นที่บริหารจัดการ ตามภารกิจของ อปท.

และหนึ่งในภารกิจ หน้าที่ของ อปท.ที่มีความสำคัญต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมชุมชน นั่นคือ การจัดการขยะ
ข้อมูลการจัดการขยะล่าสุดของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ รวบรวมพบว่า เชียงใหม่มีปริมาณขยะสะสมตกค้างต่อปี ประมาณ 22,258 ตันต่อปี จากจำนวนขยะที่เกิดขึ้น 619,757 ตันต่อปี เฉลี่ยวันละประมาณ 1,700 ตัน จาก 211 อปท.นั้นจะมีเพียง 149 อปท.ที่มีศักยภาพจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมี อปท.ดูแลจัดการประมาณ 5 แสนกว่าตันต่อปี และจัดเก็บในปริมาณใกล้เคียงกัน แต่ในจำนวนนี้จะมีขยะที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ในหลักการ 3 RคือR : Reduce คือ ลดการใช้ R : Reuse คือ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำมาใช้ซ้ำ และR : Recycle คือ การนำหรือเลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่

ปริมาณขยะส่วนนี้มีประมาณ 203,450 ตัน ส่วนที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องมี 239,301 ตันโดยประมาณ
แล้วส่วนที่เหลือจากจำนวนนี้หายไปไหน

6-jpg
การจัดเก็บขยะและสภาพขยะที่ไม่มีการคัดแยก ในพื้นที่เชียงใหม่

อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านคือ จำนวนขยะที่เกิดขึ้นใน อปท.ที่ไม่มีการให้บริการจัดการขยะ อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพนั้นจะมีสูงถึง 114,255 ตันต่อปี มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 54,739 ตัน

ทั้งนี้อปท.บางส่วนจะมีบ่อขยะในเขตรับผิดชอบของ เทศบาลตำบล,อบต. แต่ส่วนหนึ่งเลือกที่จะใช้บริการ จัดจ้างผู้รับเหมา ซึ่งเปิดบริการจัดเก็บขยะในจังหวัดเชียงใหม่หลายๆราย และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ประกอบการที่มีสัมปทานผูกขาดกับท้องถิ่นมานานหลายสิบปี

พื้นที่นำขยะที่จัดเก็บไปกลบฝัง ส่วนใหญ่จะใช้บริการที่บ่อฝังกลบของเอกชน ที่มีพื้นที่ในโซนเหนือและโซนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่

13-jpg
สถานที่มีบ่อขยะในเชียงใหม่

11-jpg
ในความนิยมของ อปท.จะเลือกใช้บริการ ที่หลุมฝังกลบในเขตสายใต้ของ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เพราะมีเงื่อนไข การรับซื้อขยะตันละ 800-900 บาท เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะด้วย ช่วงกันยายนนี้ บรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มออกประกาศ จัดหาผู้รับจ้างจัดเก็บขยะในชุมชน

15-jpg
ท้องถิ่น .อปท. ในเชียงใหม่เริ่มจัดหาผู้รับจ้างจัดเก็บขยะในช่วงนี้

โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เทศบาลตำบลหนองหอย ออกประกวดราคาจ้างขนถ่ายเพื่อนำไปกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฎิกูล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม2559 – กันยายน 2560 )
ด้วยการขนถ่ายนำไปกำจัดจากรถบรรทุกขยะของเทศบาลตำบลหนองหอย ด้วยระบบหรือวิธีที่ถูกต้องตามสุขลักษณะและไม่ก่อเหตุรำคาญ ต่อปริมาณขยะเฉลี่ยทั้งปี จำนวน2,619 ตัน ราคาต่อตันๆละ 1,188.-บาท งบประมาณ 3,954,800-บาท ราคากลาง 3,111,372 บาท

กำหนดยื่นซองเอกสารประกวดราคาจ้างเหมาบริการ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 22 กันยายนนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 3 ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่

ในขณะที่บาง อปท. เช่น เทศบาลตำบลหารแก้ว เลือกที่จะใช้วิธีการ สอบราคาจ้างเก็บขน กำจัดขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ในพื้นที่ราคากลาง 98,000 บาท หรือ 49 บาท/หลังคาเรือน โดยจัดเก็บขยะ 9 หมู่บ้าน ไม่น้อยกว่า 2,000 หลังคาเรือน

จัดเก็บอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง/หมู่บ้าน ช่วงตุลาคม 2559 ถึง เดือนกันยายน 2560 รวมระยะเวลา 12 เดือน
ราคากลางในการจัดเก็บขยะ แตกต่างกัน เทศบาลตำบลยุหว่า กำหนดตันละ 1,800 บาท บางอปท.มีงบประมาณ
ในการจัดเก็บหลักแสน แต่บางอปท.มีงบหลายล้านบาท จนถึง 200 กว่าล้าน ก็มีเช่นเทศบาลเมืองแม่โจ้ กำหนด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 จำนวน 12 เดือน ราคาตันละ 1,050.-บาท รถบรรทุกบรรจุขยะได้ไม่เกิน 24 ตันต่อคัน เดือนละไม่เกิน 45 เที่ยว ราคาเที่ยวละ 25,200 บาท วงเงินงบประมาณไม่เกิน 1,134,000 บาท/เดือน ราคากลางในการสอบราคาครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 13,567,150 บาท ประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

เทศบาลตำบลแม่ริม ตั้งงบฯจัดการขยะชุมชนไว้ 8,785,550 บาท ผู้เสนอราคาดีที่สุดในการ จ้างเหมาขนขยะมูลฝอยไปกำจัดคือ จินตนารีไซเคิล ในวงเงิน 8,732,625 บาท เป็นต้น

3-jpg
นครเชียงใหม่มีงบจัดเก็บขยะปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า ตราบใด ที่การจัดการขยะ อย่างเป็นระบบของ อปท. ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ตามแผนแม่บท จะเป็นวาระแห่งชาติ หรือ วาระจังหวัดก็ตาม ตราบใดที่การจัดการขยะ ตามมาตรการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย โซนเหนือ โซนกลาง และโซนใต้ ด้วยการจัดวางกลุ่ม อปท.แต่ละโซน เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ โครงการกำจัดขยะตามแผนฯที่ต้องมีทั้ง โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ โรงงานคัดแยก และโครงการต่างๆที่ประชุม หารือ และจัดทำแผนแม่บท การจัดการขยะชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายตามแผนฯที่กำหนดไว้ได้

4-jpg
ก็คงมีวิธีการแบบนี้ที่ อปท. ต้องตั้งงบฯดูแล จัดการขยะในเขตรับผิดชอบ จัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สอดรับกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน หรือมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ แต่ทำไม่ได้ เพราะเหตุผล-ปัจจัยใด?

ขอบคุณข้อมูลดีๆและภาพจาก: สำนักสิ่งแวดล้อมภาค 1 เชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น